จากกรณีตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของ จ.ชลบุรี พุ่งสูงวันเดียวถึง 8,000 ราย ซึ่งทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเกิดความกังวลใจว่าจะกระทบไปถึงการเดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นของประเทศไทยนั้น
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 6 ประกอบด้วย สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และ ตราด ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ใน จ.ชลบุรี อยู่ในระดับหลักพันเช่นนี้มาโดยตลอด
“เนื่องจาก จ.ชลบุรี เป็นเมืองท่าสำคัญทั้งการค้าขาย เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การควบคุมโรคที่เราทำจึงคู่กับเศรษฐกิจด้วย ฉะนั้น เราต้องเร่งป้องกันสิ่งที่จะตามมาในการติดเชื้อที่มากเช่นนี้ คือ จำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องมือมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง 608 ดังนั้น เราจึงเร่งการฉีดวัคซีนกระตุ้นในกลุ่มดังกล่าวให้มากขึ้น เพราะการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพียง 2 เข็ม ไม่เพียงพอ รวมถึงแม้จะเป็นเชื้อโอมิครอน ที่ในภาพรวมอาการไม่ค่อยรุนแรง แต่หากไม่ได้รับวัคซีนเลย เมื่อติดเชื้อแล้ว ก็อาจจะมีอาการรุนแรงได้เช่นกัน ทั้งนี้ ภาพรวมของเขตสุขภาพที่ 6 มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ครอบคลุมจำนวนประชากรเกือบร้อยละ 40 แต่ถ้าเทียบกับการฉีดเข็มที่ 2 ก็จะอยู่ที่ร้อยละ 50 ตัวเลขผู้ป่วยหนักตอนนี้ เมื่อเทียบกับตอนเชื้อเดลต้า ถือว่าเชื้อโอมิครอนน้อยกว่า 3-4 เท่า มาจากการฉีดวัคซีนและความรุนแรงของโรคที่ต่างกัน แต่ถ้าไม่ฉีดวัคซีน เชื้อโอมิครอนก็เอาเรื่องเราได้เหมือนกัน ตัวเลขติดเชื้อในต่างประเทศอยู่หลักแสนราย ส่วนไทยเราอยู่ระดับหมื่นราย โดยส่วนตัวเชื่อว่าตัวเลขการติดเชื้อด้วย ATK จริงๆ น่าจะ 2-3 เท่า ของการตรวจ PCR ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการน้อยมากๆ หรือไม่มีอาการเลย ก็อาจไม่ได้ตรวจ” นพ.ณรงค์กล่าว
นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า สำหรับเตียงการรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง สีเหลือง ในเขตสุขภาพที่ 6 ในขณะนี้ยังมีเพียงพอ สธ.ได้ติดตามกันต่อเนื่อง ฉะนั้น สิ่งที่เราดูสถานการณ์ว่าเตียงไม่พอ เราจะต้องดูเมื่อตอนเป็นเชื้อเดลต้าที่ผู้ป่วยต้องหาเตียง มีการให้ออกซิเจนที่บ้าน แต่ขณะนี้ไม่ค่อยมีภาพนั้น และ สธ.ก็เปิดช่องทางลงทะเบียนในลักษณะของผู้ป่วยนอกเพื่อรับยาแบบ “เจอแจกจบ” และการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) โดยหากมีอาการเปลี่ยนแปลงก็สามารถติดต่อหน่วยบริการได้ทันที
“เราพยายามควบคุมโรคระดับหนึ่ง แต่เราโฟกัสการเดินไปสู่โรคประจำถิ่น หรือ Post Pandemic เช่น ไข้หวัดใหญ่ เราไม่ได้ดูจำนวนการติดเชื้อ แต่เราดูที่จำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ การรองรับของสถานพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิต ดังนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนมามองเช่นนี้” นพ.ณรงค์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเขตสุขภาพที่ 6 นพ.ณรงค์กล่าวว่า การกำหนดมาตรการต่างๆ เป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งจะมีการบาลานซ์ระหว่างการควบคุมโรคและเศรษฐกิจ ในแนวคิดสังคมปลอดภัย ภายใต้กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจที่ปลอดภัย ซึ่งมาตรการต่างๆ จะมีการเตรียมไว้เหมาะสมกับศักยภาพการรองรับผู้ติดเชื้อและลดจำนวนการสูญเสียให้มากที่สุด ฉะนั้น เราขอให้ทุกคนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ให้มากที่สุด
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่