นายกฯ ห่วง ปชช. หลังอากาศร้อนนี้ โรคพิษสุนัขบ้าพุ่ง แนะ นำหมา-แมว ฉีดวัคซีน พร้อมระวังลูกหลาน ไม่ให้โดนกัด-ข่วน
เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยพี่น้องประชาชนจากสภาพอากาศที่ร้อนมากในช่วงนี้ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพประชาชนเท่านั้น ยังรวมถึงความปลอดภัยจากสัตว์ด้วย ซึ่งข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า (ณ 15 เม.ย. 65)
ปรากฏรายงานผลบวกโรคพิษสุนัขบ้า 30 วันย้อนหลัง (ตั้งแต่ 16 มี.ค. – 15 เม.ย. 65) ได้แก่ จังหวัดสงขลา ผลบวก 4 หัว 57.15 เปอร์เซ็นต์ และอีก 3 จังหวัดคือ สมุทรปราการ พะเยา ชลบุรี มีผลบวกจังหวัดละ 1 หัว 14.29 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ 10 อันดับพื้นที่เกิดโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด 30 วันย้อนหลัง (ตั้งแต่ 16 มี.ค. – 15 เม.ย. 65) ได้แก่ จังหวัดสงขลา สมุทรปราการ พะเยา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานว่าในปี 2565 นี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 รายเมื่อเดือน มีนาคม ที่ผ่านมาที่จังหวัดชลบุรี โดยมีประวัติสัมผัสกับสุนัขของเพื่อนบ้านที่นำมาฝากเลี้ยงข่วน
นายธนกร กล่าวว่า ในช่วงนี้ยังปรากฏรายงานพื้นที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับคนถูกสุนัขกัด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม มีโอกาสสูงที่เด็กจะไปเล่นกับสุนัขหรือแมวที่ไม่รู้จัก ประกอบกับอากาศร้อนอบอ้าว อาจทำให้สัตว์หงุดหงิดได้ง่าย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและบุตรหลาน ไม่ให้ถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน เพราะมีความเสี่ยงอาจทำให้ติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมถึงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัข หรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อพิษสุนัขบ้า
ขณะที่กรมปศุสัตว์ก็ได้ดำเนินการในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอันตรายติดต่อได้ทั้งสัตว์และคน เป็นแล้วไม่มีทางรักษา ทางที่ดีที่สุดคือการควบคุมและป้องกันการเกิดโรคเท่านั้น กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือผู้เลี้ยงสัตว์ทุกคนเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ไม่ปล่อยวิ่งในที่สาธารณะ โดยขาดผู้ดูแล และไม่นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยทิ้งให้เป็นปัญหาต่อสังคมในอนาคต รวมทั้งให้พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละ 1 ครั้ง
“กรมควบคุมโรคได้ย้ำคำแนะนำ 5 ย. ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คือ อย่าแหย่สัตว์ อย่าเหยียบบริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ อย่าแยกสัตว์ที่กำลังกัดกัน อย่าหยิบอาหารขณะสัตว์กำลังกิน และอย่ายุ่งกับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย หากถูกสุนัขหรือแมว กัด ข่วน ขอให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลาย ๆ ครั้งอย่างเบามือ ใส่ยาฆ่าเชื้อ หรือโพวิโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีอาจใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่น ๆ ที่บาดแผลทันทีหลังล้างแผลเสร็จ จากนั้นไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน เพื่อวินิจฉัยและพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และให้กักสุนัข-แมว 10 วันเพื่อสังเกตอาการ หากสัตว์ตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ และสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงขอให้พาสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดเป็นประจำทุกปี” นายธนกร กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้จัก…ระวังไว้ ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ ‘ไร้สายพันธุ์ใหม่’
- บทนำมติชน 16 มีนาคม 2565 : ระวัง‘พิษสุนัขบ้า’
-
ห่วง! พิษสุนัขบ้าระบาดซ้ำ ล่าสุดตายแล้ว 1 สธ.แนะ ปชช.นำหมา-แมวไปฉีดวัคซีนป้องกัน
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่