วันอาทิตย์ ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 10.12 น.
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board)แสดงความพอใจต่อรายงานการส่งออกทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยไปจีน ระหว่าง 1 ก.พ. – 5 มิ.ย. ปีนี้ มีปริมาณ 433,809.92 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 มีปริมาณ 425,000 ตันซึ่งเป็นทำลายสถิติการส่งออกของฤดูกาลปี 2564 ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนแล้ว 91% ส่งออกแล้ว 87% สำหรับมังคุดเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 73% และส่งออกแล้ว 60%
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย และคณะ เดินทางศึกษาดูงานด้านการเกษตร ณ จันทบุรี ในวันที่10มิถุนายนโดยมีส่วนราชการ ได้แก่ นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายพิษณุ คล้ายเจตน์ดี ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 นางสาววนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และนายภานุศักดิ์ สายพาณิชย์ นายกสมาคมทุเรียนไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ
โดยคณะได้เดินทางไปยังสวนทุเรียนรักตะวัน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี จากนั้นเข้าเยี่ยมชมและหารือกับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ ดราก้อน เฟรชฟรุ๊ต อ.มะขาม จ.จันทบุรี เพื่อรับทราบมาตรการ GMP Plus ที่มีการควบคุมดูแลผลไม้ส่งออกที่ปลอดโรคแมลงศัตรูพืชและปลอดโควิด-19 จากนั้นได้เดินทางไปยังสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ซึ่งถือเป็นสหกรณ์ต้นแบบที่ได้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าแบบครบวงจร
ทั้งนี้นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ทุเรียนถือว่าเป็นราชาแห่งผลไม้หรือคิงออฟฟรุตที่ได้รับความชื่นชอบจากชาวจีนและชาวไทย ผมและคณะของผมก็เป็นผู้บริโภคทุเรียนของไทย การเดินทางมาดูสวนทุเรียนครั้งนี้ ในด้านนึงก็เพื่อศึกษาเรียนรู้การผลิตทุเรียน รวมถึงมาตรการต่างๆเพื่อควบคุมโควิด-19 อย่าง GAP Plus และที่สำคัญในฐานะผู้บริโภคที่ชื่นชอบทุเรียน อยากแสดงความเคารพต่อผุ้ผลิตทุเรียน ที่ผลิตทุเรียนที่อร่อยผู้บริโภคชาวจีนจึงได้ชิมทุเรียนที่อร่อยสุดๆ
ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ได้ชิมทุเรียนคือได้เดินทางมาประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ตอนนี้ทุเรียนไทยมีขายทั่วไปในประเทศจีน เพราะฉะนั้นผมเองก็อยากขอบคุณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดจันทบุรี สมาคมทุเรียนไทย และท่านสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ชวนผมมาดูสวนทุเรียนประเทศไทย
จีนกับไทยเป็นประเทศฉันท์มิตร ตามคำกล่าวที่ว่า จีนไทยพี่น้องกันใช่อื่นไกล ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสองประเทศจะไปมาหาสู่กันลดลง แต่ว่าทั้งสองประเทศได้ร่วมมือร่วมใจ สนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ความสัมพันธ์ไทยจีนแน่นแฟ้นกันมากขึ้นผ่านการต่อสู้เรื่องโควิด-19 ซึ่งระหว่างความสัมพันธ์ไทย-จีน คือการค้าขายสินค้าทางด้านเกษตร ซึ่งปีที่แล้วสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งไปจีน มูลค่าทะลุ 11,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า3แสนล้านบาท)เติบโต 33 % มีสินค้าทุเรียนที่ส่งไปจีนมูลค่า 5,430 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า1.6แสนล้านบาท)เติบโต 87 %
ตั้งแต่มีโควิดขึ้นมาพวกเราก็มีมาตรการต่างๆเพื่อป้องกัน และฝ่ายจีนก็ใช้มาตรการต่างๆเพื่อส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยไปยังจีน ยกตัวอย่างเช่น มนฑลกว่างสี ในเรื่องการการอำนวยความสะดวกส่งผลไม้ไทยไปจีน ก็ได้ขยายเวลาทำการจากวันละ 8 ชั่วโมง เป็นวันละ 10 ชั่วโมง และจากทำการจากอาทิตย์ละ 5 วัน เป็นอาทิตย์ละ 7 วัน
ผมได้ยินว่าปีนี้ประเทศไทยมีทุเรียนออกมาเยอะมาก แต่ผมก็มั่นใจว่าการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนจะประสบความสำเร็จ ในเรื่องของการขนส่งก็ได้มีการเปิดรถไฟลาว-จีน เชื่อว่าอนาคตประเทศไทยจะส่งสินค้าไปยังประเทศจีนได้ทางรถไฟอีกทาง ตอนนี้จีนกับไทยก็ผลักดันการสร้างรถไฟไทย-จีน อนาคตจะมีการขนส่งสะดวกขึ้นเพื่อส่งสินค้าของไทยไปจีนมากขึ้น ทาง นายกสมาคมทุเรียนไทยบอกผมว่าจะมีการปลูกต้นทุเรียนร่วมกัน ซึ่งผมเชื่อว่าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะทุเรียน เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ของไทย-จีน ผมเองก็หวังว่าต้นทุเรียนที่เราได้ร่วมปลูกกันจะเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ ที่ได้มีร่วมกัน
นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้รับทราบถึงมาตรการนำเข้าสินค้าของประเทศจีนที่ต้องการให้เป็น Zero Covid จึงได้ดำเนินมาตรการคุมเข้มและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างมาตรฐานการส่งออกผลไม้ที่ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการในสวน โรงคัดบรรจุ และการขนส่ง รวมทั้งได้มีการเพิ่มมาตรการของเกษตรกร จากมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับทุเรียน (GAP) เป็น GAP Plus โดยเพิ่มเติมเรื่องการควบคุมและเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 ในสวน เพื่อลดเชื้อและการปนเปื้อนในผลผลิต สำหรับโรงคัดบรรจุจะเพิ่มมาตรการจากหลักเกณฑ์ในการจัดการขั้นตอนพื้นฐานของกระบวนการผลิต (GMP) เป็น GMP Plus โดยจัดทำมาตรการความปลอดภัยในโรงคัดบรรจุ (Covid Free Setting) และมาตรฐานความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ในผลไม้
ขณะเดียวกัน จังหวัดจันทบุรีได้ตระหนักและมีการติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ส่งออกไปจีน จึงได้มีการวางมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ การตรวจ ATK แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุเป็นประจำ การจัด Big Cleaning เพื่อทำความสะอาดโรงคัดบรรจุ และการฉีดพ่นน้ำยาก่อนการบรรจุและก่อนการขนส่งจนสินค้าที่ส่งออกเป็นที่ยอมรับ และมีการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเข้าประเทศจีนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
นาย ภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย ในฐานะตัวแทนชาวสวนทุเรียนไทย ได้กล่าวว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับ ท่าน หาน จื้อ เฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย และคณะ ที่ได้มาเยี่ยมชมกระบวนผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ วันนี้ท่านและคณะจะได้เห็นว่า เรามีความตั้งใจที่จะผลิตทุเรียนดีมีคุณภาพส่งไปยังประเทศจีนให้ดีที่สุด ตลอดจนเรายังให้ความสำคัญกับมาตรการโควิด -19 ให้สอดคล้องกับมาตรการของทางจีน และวันนี้เรายังได้มีกิจกรรมให้ชิมทุเรียนพรีเมียมและทุเรียนแปรรูปที่คัดมาพิเศษ ที่สำคัญที่สุดจะขอเรียนเชิญท่านทูตและคณะจะมีการร่วมปลูกทุเรียนเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสัมพันธ์อันดีของไทย-จีน ด้วยครับ
จากนั้น นาย สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นาย สุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นาย ภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย ได้นำนายหาน จื้อเฉียง และคณะ ร่วมปลูกทุเรียนเป็นอนุสรณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน และร่วมตัดทุเรียน ชิมทุเรียน บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่นทั้งคณะท่านทูต คณะของประเทศไทย.