13 ตุลาคม 2565 วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับเป็นปีที่ 6 แห่งความคิดถึง ‘กษัตริย์นักพัฒนา’
ชวนปวงชนชาวไทยมาน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รู้จัก ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ หนึ่งใน 5,151 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน อยู่ในการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
พระวิสัยทัศน์ตั้ง‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ’
นายปวัตร์ นวะมะรัตน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯไปทรง เยี่ยมราษฎรทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และจากการทรงงานในพื้นที่ต่างๆ ทรงทราบถึงปัญหาของเกษตรกรของแต่ละพื้นที่ ที่ประสบปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผลทำให้เกษตรกรไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดีเท่าที่ควร
“ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ คือ การขาดแคลนรูปแบบ แบบฉบับ หรือตัวอย่างการพัฒนา คือ ชาวบ้านจะทำไปเรื่อย ปลูกอะไรก็ปลูกอยู่อย่างนั้น ไม่รักษาดิน ก็ปลูกจนดินเสื่อมโทรม จนปลูกอะไรไม่ขึ้น เป็นการปลูกไปตามภูมิปัญญาของเขา ไม่มีนักวิชาการ หรือข้อมูลที่ถูกต้องลงไปชี้แนะให้เขา” นายปวัตร์กล่าว
ด้วยพระวิสัยทัศน์อันลุ่มลึกและกว้างไกลทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิชา ค้นคว้า ทดลอง และสาธิตทางด้านเกษตรกรรม ให้เกษตรกรและประชาชนที่สนใจสามารถนำไปปฏิบัติได้ ด้วยวิธีการง่ายๆ ประหยัด และไม่ซับซ้อน อีกทั้งสามารถบริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One stop service) แก่ประชาชนและเกษตรกร และเป็นพื้นที่ต้นแบบของการบริหาร ‘รวมศูนย์’ ของส่วนราชการ
ดังพระราชดำรัสที่ว่า “…ศูนย์ศึกษาการพัฒนา เป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรม กอง ทั้งในด้านเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านหางานการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่าประชาชนซึ่งจะต้องใช้วิชาการทั้งหลาย ก็สามารถที่จะมาดู
“ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชน ก็มาอยู่พร้อมกันในที่เดียวกันเหมือนกัน ซึ่งเป็นสองด้าน ก็หมายถึงว่า ที่สำคัญปลายทางคือประชาชนจะได้รับประโยชน์ และต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะให้ประโยชน์…”
เริ่มต้นในปี พ.ศ.2522 มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,895 ไร่ จากนั้นทยอยจัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส พื้นที่ 1,740 ไร่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี พื้นที่ 36,000 ไร่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร พื้นที่ 2,300 ไร่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จ.เชียงใหม่ พื้นที่ 8,500 ไร่ และในปี พ.ศ.2526 มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี พื้นที่ 42,640 ไร่ รวมทั้งหมด 6 แห่ง
“พระองค์ทรงเลือกศูนย์ศึกษาฯ แต่ละแห่งด้วยพระองค์เอง ส่วนใหญ่พื้นที่ที่ทรงเลือกจะอยู่ใกล้พระตำหนักไม่ถึง 10 กิโลเมตร อย่างศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ อยู่ใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯอยู่ใกล้พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ซึ่งเวลาอยากทอดพระเนตร ก็เสด็จฯ ไปได้ทันทีเลย เพื่อจะทดลองด้วยพระองค์เอง บางเรื่องพระองค์เอาความรู้ที่ได้ทดลองด้วยพระองค์เองในสวนจิตรลดามาขยายผลที่ศูนย์ศึกษาฯ” นายปวัตร์กล่าว
ให้ความรู้ราษฎรพึ่งพิงตัวเองให้ได้
นายปวัตร์กล่าวถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทรงอยากให้ชาวบ้านรู้จักทำการเกษตรแบบพึ่งพิงตัวเองให้ได้ก่อน ด้วยการมีแหล่งอาหารอยู่ในบ้านตัวเอง เช่น ปลูกพืช ผัก เลี้ยงไก่ เป็ด ไข่ ปลา ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาขั้นต้น และเป็นจุดประสงค์หลักของพระองค์ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนการพัฒนาระดับที่สูงขึ้นไป เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาพัฒนา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ มีวิธีถ่ายทอดองค์ความรู้ 3 วิธี คือ
1.ให้ดูแปลงสาธิต ที่จัดแสดงความสำเร็จ
2.จัดอบรม มีหลักสูตรสอนการทำเกษตรระยะสั้น ให้ประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้ สามารถเรียนและกินอยู่ในศูนย์ได้เลย ไม่มีค่าใช้จ่าย
3.แนะนำถึงบ้าน มีเจ้าหน้าที่ศูนย์ไปเคาะประตูบ้าน เพื่อสอบถามปัญหาการประกอบอาชีพ ปัญหาการทำเกษตร สอบถามความต้องการ แล้วเอาแบบอย่างความสำเร็จไปแนะนำให้
ปัจจุบันที่มีสถานการณ์โควิด-19 ระบาดและภาวะความอดอยาก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ได้เพิ่มบทบาทด้วยการเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของชาวบ้าน โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ เอาให้ชาวบ้านไปปลูกในพื้นที่ของตัวเองเพื่อบริโภคในครัวเรือน
“การให้ของศูนย์เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า แต่ระยะยาวเราให้ชาวบ้านมาอบรมความรู้ เช่น เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ ทำประมง ฯลฯ แล้วนำสิ่งที่ได้จากการอบรม ไปพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง เพื่อผลิตอาหารและสร้างรายได้แก่ตัวเองอย่างยั่งยืน”
นายปวัตร์แนะนำผู้สนใจเข้าไปศึกษาอบรมที่ศูนย์ สามารถไปตัวเปล่าได้เลย กินฟรี อยู่ฟรี มีหลายหลักสูตรให้เลือก และเรียนตามความสนใจ
“อย่างศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มีอบรมการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ เลี้ยงกบ ปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงปลานิล ปลาดุกอุย ไก่พื้นเมือง ปลูกข้าวแบบคนต้นน้ำ ซึ่งอยากเรียนอะไรก็เข้าไป อย่างเพาะเห็ดเศรษฐกิจ หลักสูตร 3 วัน ก็เรียนและพักอยู่ที่ศูนย์ มีอาหารเช้ากลางวันเย็น เข้าไปตัวเปล่า ออกมามีความรู้ตั้งแต่ทำโรงเห็ดได้ เพาะเห็ดเป็น และยังได้พันธุ์เห็ดกลับไปเพาะเอง นี่เป็นลักษณะเหมือนกันทุกศูนย์ “ก็คาดหวังว่าใน 10 คน ที่มาเรียนรู้ จะมีอย่างน้อย 3 คนที่นำไปต่อยอดเป็นเกษตรตัวอย่าง หรือผู้เชี่ยวชาญ ส่วนอีก 7 คน สามารถนำความรู้นี้ไปพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ประเมินผู้ที่เข้ามาอบรมตลอด ในภาพรวมถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร ชาวบ้านได้ประโยชน์ มีทั้งได้เป็นเกษตรกรตัวอย่าง และใช้ความรู้ไปพึ่งพาตัวเองได้” นายปวัตร์กล่าว
ต่อยอดสร้างรายได้ให้ราษฎร
ส่วนทิศทางของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จากนี้ นายปวัตร์กล่าวว่า หลังจากศูนย์ได้ทดลองศึกษาวิจัยมา 30 กว่าปี ปัจจุบันถือว่าได้รูปแบบการพัฒนามากพอสมควรแล้ว เรารู้ว่าภาคอีสานต้องปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อะไร ภาคใต้ต้องทำแบบไหน ภาคเหนือต้องทำยังไง และตอนนี้ชาวบ้านเริ่มพึ่งพาตัวเองได้ระดับหนึ่ง
ฉะนั้นจุดสำคัญของศูนย์จากนี้ คือ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านที่ได้จากการศึกษาอบรมกับศูนย์ บางอย่างที่เขาทำเพื่อความอยู่รอด แต่บางอย่างที่มีเหลือสามารถขายได้ ส่วนจะขายที่ไหน ศูนย์จะต้องช่วยดู พูดง่ายๆ คือต้องหาตลาดให้ ดูว่าสินค้าที่ชาวบ้านทำออกมาแต่ละอย่าง ทดลองขายในศูนย์ปรากฏว่าขายได้ เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวนี้ให้เข้าไปสู่ตลาดที่กว้างกว่านี้ นี่คือภารกิจของทุกศูนย์ที่ผมอยากให้เป็น
“นอกจากพึ่งพาตัวเองได้แล้ว สุดท้ายเขาต้องมีรายได้เพิ่มจากการขายผลิตภัณฑ์ของเขา นี่เป็นการพัฒนาที่ทำให้เขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน คนเราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ทำสินค้าขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ชาวบ้านชอบ คนซื้อติดใจ นั่นคือจุดแข็งของเขา ตรงนี้ศูนย์ต้องนำไปขยายผล ต่อยอด หาตลาด ทำอย่างไรให้อยู่ในชั้นวางสินค้าของห้างใหญ่ๆ ก็เป็นภาพที่อยากเห็นในอนาคต ส่วนเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ก็ทำต่อไป ทิ้งไม่ได้ แต่เรื่องการสร้างรายได้เสริม สร้างอาชีพก็ต้องทำ” นายปวัตร์กล่าว
คำสอน ร.9 ความเดือดร้อนราษฎรรอไม่ได้
นายปวัตร์ได้น้อมนำคำสอนของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติอย่างขึ้นใจ
“หลักสำคัญของพระองค์ คือ ความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้ ฉะนั้นเวลาทำงาน ผมชอบพูดกับน้องๆ ว่าต้องรีบอย่างช้าๆ แม้พระองค์ไม่ได้ตรัสคำนี้ แต่ทรงสอนแบบนี้ คือ เวลาทำงานช่วยเหลือชาวบ้าน ให้รีบอย่างช้าๆ หมายความว่า ความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้ เวลาทำต้องรอบคอบ ระมัดระวัง พิจารณาแต่ละเรื่องให้ถี่ถ้วน อย่าทำผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย ให้ทำตามระเบียบขั้นตอน นี่คือรีบอย่างช้าๆ
“เป็นหลักการที่ผมบอกน้องๆ เวลาทำงานสนองพระราชดำริ อืดอาดไม่ได้ โดยเฉพาะการถวายฎีกาของราษฎร หรือจดหมายที่ราษฎรเขียนถึงในหลวง ฉะนั้นเวลามีหนังสือจากสำนักพระราชวังถึง กปร. เกี่ยวกับเรื่องฎีกา ต้องรีบทำทันที ประสานหน่วยที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อย แล้วลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้าน สอบถามความเดือดร้อน แล้วกลับมาทำรายงานถวาย หากทรงมีพระราชดำริว่ารับ ก็ต้องรีบจัดทำโครงการช่วยเหลือ มีการติดตาม เมื่อเสร็จสิ้นก็ทำรายงานถวายให้ทรงทราบ” นายปวัตร์กล่าวทิ้งท้าย