สสส.ปลุกชุมชนท้องถิ่นสร้าง “นักพัฒนาเฝ้าระวัง ตำบลสายพันธุ์ใหม่” NEW SMART สร้างจุดเปลี่ยนด้วยการเฝ้าระวัง-ป้องกัน-รับมือโรคติดต่อ อบต.แว้ง จ.นราธิวาส ถอดบทเรียน สร้างทีมเวิร์กรับมือ “โควิด” ระลอกใหม่ มั่นใจเอาอยู่ อบต.เสม็ดใต้ จ.ฉะเชิงเทรา เน้นใช้สื่อโซเชียลให้ความรู้เข้มข้น Base on Problem สร้างเกราะป้องกันชุมชน
ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 101 แห่ง ดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งให้ชุมชนท้องถิ่นสร้างกลไกเฝ้าระวังโรคติดต่อทุกโรคที่เกิดขึ้นในชุมชน เน้นสื่อสารและรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อ หาวิธีการจัดการเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบ รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขจัด ควบคุม เฝ้าระวัง และป้องกันโรคติดต่อ
การทำงานครั้งนี้เป็นการสร้างความร่วมมือ 4 องค์กรหลักในชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วย ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา พัฒนาตนเองเป็น “ตำบลสายพันธุ์ใหม่” ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น มีแนวทางการแก้ปัญหาชัดเจน พัฒนาระบบข้อมูล เครื่องมือ กลไก สร้างความเข้าใจ และเพิ่มทักษะ ประสบการณ์ให้กับผู้เกี่ยวข้องมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเตรียมการและเฝ้าระวัง ระยะควบคุมการระบาด และระยะฟื้นฟู
“สสส.สนับสนุนให้ท้องถิ่นสร้าง “นักพัฒนาเฝ้าระวัง” อย่างช่วงที่โควิด-19 ระบาดเมื่อปีก่อน พนักงานท้องถิ่นไม่มีความรู้เลย ไม่รู้จะรับมืออย่างไร กว่าจะตั้งหลักได้ก็ใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นแต่ละท้องถิ่นต้องพัฒนาบุคลากรของตัวเองให้มีความพร้อม ทั้งนี้ การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทุกคนเตรียมความพร้อมมากยิ่งขึ้น สามารถเป็นต้นแบบของท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศในการจัดการกับโรคติดต่อในพื้นที่” ดวงพรกล่าว
จุฑามณี หามะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส กล่าวว่า ได้ถอดบทเรียนการเกิดโควิดรอบแรก จึงได้เตรียมพร้อมยกระดับการทำงาน นำบทเรียนมาต่อยอด พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการปฏิบัติงาน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาให้ความรู้กับพนักงาน รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในเรื่องจิตวิทยาสำหรับไปดูแลชาวบ้านด้วย โดย อบต.เป็นแกนหลักสำคัญ แล้วประสานความร่วมมือกับ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ คือ ท้องที่ ท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน ภาครัฐและเอกชน พร้อมด้วยผู้นำทาง ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจนสามารถฝ่าวิกฤติช่วงนั้นไปได้ ซึ่งบทเรียนการทำงานเพื่อรับมือกับโควิดที่ผ่านมา หัวใจสำคัญคือทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมทั้งผู้นำศาสนา ต้องพูดคุย สื่อสาร ทำความเข้าใจร่วมกัน หากเปิดอกคุยกัน ทุกปัญหาก็จะฝ่าฟันไปได้ และหากการระบาดกลับมาอีกครั้ง ทาง อบต.แว้งก็มั่นใจว่ามีทีมเวิร์กที่แข็งแกร่งสามารถรับมือได้แน่นอน และมั่นใจด้วยว่า ไม่ว่าโรคระบาดอื่นใดมา ทีมทำงานจะสามารถรับมือได้หมด
กิตติพงศ์ สีเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อบต.ได้ทำความเข้าใจ และให้ความรู้บุคลากรท้องถิ่น มีประมาณ 60 คน ในการเผยแพร่นำข้อมูลสู่ชาวบ้าน ขณะเดียวกันได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียไว้พูดคุยและส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกัน ทั้งคำสั่งทางราชการ หนังสือราชการ หรือข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อได้รับรู้ทันสถานการณ์ร่วมกัน เพราะแม้ในพื้นที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่ชาวบ้านก็หวาดวิตกกันถ้วนหน้า อันเนื่องมาจากอยู่ติดกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นจึงระมัดระวังเช่นเดิม แต่ไม่ได้ปิดกั้นพื้นที่ เพราะเข้าใจในวิถีชีวิตคนที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน โดยเน้นสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบตัวเองและสังคม ถ้าไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ก็ต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ อสม. ปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐ มีระเบียบวินัยมากขึ้น รู้จักป้องกันตัว เว้นระยะห่าง จัดระบบในการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันตัวเองโดยอัตโนมัติ
ก่อนจะเป็น อ.แว้ง จ.นราธิวาส
อ.แว้ง จ.นราธิวาส แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ อ.โต๊ะโมะ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2445 ที่ว่าการ อ.โต๊ะโมะ อยู่ที่หมู่ที่ 3 บ้านโต๊ะโมะ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน แต่เดิมเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมสัญจรต้องใช้ช้างและเท้า ที่นี่ราษฎรไทย จีนและชาวต่างชาติมาตั้งบ้านเรือนเพื่อขุดแร่ทองคำกันเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี 2478 แยกการปกครองเป็นกิ่งอำเภอปาโจ ขึ้นอยู่กับ อ.โต๊ะโมะ สาเหตุที่จัดตั้งกิ่ง อ.ปาโจ เพราะประเทศฝรั่งได้เข้ามาทำสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในเขตดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนเข้ามาอยู่กันอย่างหนาแน่น ทางราชการจึงได้จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เพื่อช่วยกันดูแลผลประโยชน์ด้านภาษีอากร
ในเวลาต่อมาเมื่อเกิดสงครามอินโดจีน ชาวฝรั่งเศสมีความจำเป็นต้องทิ้งเหมืองเพื่อหนีภัยสงคราม คนไทยจึงเข้าไปดำเนินงานแทน แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องยกเลิกกิจการในเวลาต่อมา คนไทยที่อยู่ในบริเวณนั้นก็ต้องอพยพออกไป กิ่ง อ.ปาโจ จึงได้ถูกยุบลงไปโดยปริยาย และในปี 2482 เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่ง อ.โต๊ะโมะ ตามชื่อตำบล ส่วนตัว อ.โต๊ะโมะ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อ.แว้ง
ในปี 2520 ทางราชการได้แยกท้องที่ ต.มาโมง และ ต.สุคิริน ไปจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอสุคิริน ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามชื่อพระตำหนักของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่พระราชทานเมื่อคราวเสด็จประทับแรม ส่วนอดีตที่ตั้งของ อ.โต๊ะโมะนั้น ปัจจุบันขึ้นกับ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน
ร่วมกันสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
การระบาดโควิดรอบ 2 รัฐบาลยังไม่ประกาศ Lock down ก็จริงอยู่ แต่ราชการและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาด้วยการ work from home นักเรียนเรียนผ่านทางออนไลน์ ด้วยเหตุนี้วิถีชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ มีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวทางสังคมที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือพยุงให้กลุ่มคนต่างๆ ในสังคมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการยึดหลักการจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ให้ต้องเผชิญกับวิกฤติอย่างเดียวดายและสิ้นหวัง
การให้ความรู้และข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 ร่วมกันสนับสนุนให้คนไทยทุกคนเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างชุมชนและเมืองน่าอยู่
1.Social Distancing อยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 ฟุต หรือ 1 เมตร เพื่อป้องกันการไอหรือจามแล้วกระเด็นมาโดนเรา 2.Avoid Public Transit หลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีการใช้งานร่วมกันของคนเป็นจำนวนมาก 3.Keep Exercise&Boost Immunity ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอและเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไวรัส 4.Wash Your Hand ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังจากที่สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
5.Avoid Recirculate Air หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการใช้อากาศไหลวนและมีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก 6.Avoid Crowed Area หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการชุมนุมหรือสถานที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก สถานที่แออัด 7.Espose with Sunshine &Fresh Air อย่าขังตัวเองอยู่แต่ในที่ร่ม ควรเปิดโอกาสให้ร่างกายได้สัมผัสแดดและสูดอากาศข้างนอกบ้าง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อไวรัสไปในตัว 8.Wear Mask สวมหน้ากากที่สามารถป้องกันไวรัสได้ ถ้าต้องออกไปสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
(ข้อมูลวารสารเดินไป ปั่นไป วารสารส่งเสริมการเดิน การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างชุมชนและเมืองน่าอยู่)
“วังใหม่” สุดเข้มรับมือไวรัสใส่ใจกลุ่มเปราะบาง
จันทบุรี-อบต.วังใหม่ ใช้มาตรการสุดเข้ม ผ่อนคลายล่าสุดอยู่ในกลุ่มพื้นที่ควบคุมในพื้นที่ภาคตะวันออก 8 จังหวัด นายกฯ อบต.สั่งการตรวจสอบคนเข้า-ออกพื้นที่ พร้อมเฝ้าระวังผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด กำชับทุกฝ่ายทำงานหนัก ดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ วางแผนรับมือกับการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น อ้างอิงฐานข้อมูลตำบลที่มีอยู่
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดจันทบุรี ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 192 ราย และมีผู้ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสม จำนวน 449 ราย (ข้อมูลวันที่ 7/01/64) ด้วยข้อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ พิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อพิจารณาปรับพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยใช้รูปแบบกันชนกับจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการกระจายไปยังพื้นที่อื่น โดยแบ่งพื้นที่เป็น 5 ระดับ ใช้เกณฑ์ที่จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อหรือจำนวนน้อยและรายอำเภอเช่นเดิม 1.พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 2.ควบคุมสูงสุด 3.ควบคุม 4.เฝ้าระวังสูงสุด 5.เฝ้าระวัง
พื้นที่เตรียมผ่อนคลายมาตรการควบคุม ส่งผลให้จังหวัดจันทบุรีจัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่ควบคุมในพื้นที่ภาคตะวันออก (8 จังหวัด) นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เช่นเดียวกับภาคเหนือ-ภาคกลาง (12 จังหวัด) ตาก กาญจนบุรี ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ซึ่งในสถานการณ์นี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่ เพื่อไม่ให้โควิดแพร่ระบาดไปมากกว่านี้
การเปิดการเรียนการสอนทุกพื้นที่เปิดได้เกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับ รร.ใน กทม.และปริมณฑล แต่ต้องคำนึงถึงมาตรการในการป้องกันโรค การสลับเวลาเรียน การเว้นระยะห่าง หรือการสอนออนไลน์ ยกเว้น จ.สมุทรสาครที่ยังให้ปิดอยู่ ส่วนบ่อนการพนันปิดทุกพื้นที่ สถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุมให้ปิดสถานที่และงดบริการนอกสถานที่ ส่วนการแข่งขันชกมวยของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม สามารถแข่งขันได้แบบไม่มีผู้ชม
นริศ กิจอุดม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังใหม่ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี เผยถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ตำบลวังใหม่ว่า ในขณะนี้ยังไม่มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่ แต่มีคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังอยู่จำนวน 9 คน แม้ว่าทั้งหมดจะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 มีผลเป็นลบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทางตำบลก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้ขอความร่วมมือให้กักตัวต่ออีก 14 วัน โดยมอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน รวมไปถึง อสม.คอยติดตามอย่างใกล้ชิด โดยจะมีไลน์กลุ่มโควิด-19 ของตำบล เป็นช่องทางการสื่อสารและรายการสถานการณ์ให้ทั่วถึงในเวลาทันท่วงที
“เราให้ทุกฝ่ายทำงานอย่างเข้มงวดมากขึ้น ผู้ที่เดินทางเข้า-ออกในพื้นที่ จะต้องเข้าไปรายการตัวต่อสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่จะซักประวัติ ตรวจสอบไทม์ไลน์อย่างละเอียด และทุกคนต้องกักตัว 14 วัน ที่บ้านของตนเอง ในแต่ละหมู่บ้านก็จะมีทีม อสม.คอยไปวัดไข้ผู้ที่ต้องกักตัว หากมีคนฝ่าฝืน ก็จะมีมาตรการเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ตักเตือน ไปจนถึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอเข้ามาจัดการ พาออกนอกพื้นที่และไปกักตัวในสถานที่ที่อำเภอจัดเตรียมไว้ให้”
โปรแกรมระบบข้อมูลตำบลเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน เป็นเครื่องมือที่มุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้และนำไปใช้ข้อมูลชุมชนร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่น เป็นโปรแกรมด้านการจัดเก็บข้อมูลตำบลที่มีประสิทธิภาพผ่านแบบสอบถาม พร้อมคีย์ข้อมูลผ่านโปรแกรมเพื่อวิเคราะห์ และประมวลผลให้เห็นถึงข้อมูลที่เป็นปัญหาและความต้องการของพื้นที่ รวมถึงข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงทุนและศักยภาพของพื้นที่ โดยข้อมูลทั้งหมดจะออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และเชื่อมต่อข้อมูลให้คนในพื้นที่นำไปต่อยอดและให้คนในพื้นที่อื่นเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
นายก อบต.วังใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่นั้น มีตั้งแต่การให้ความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มเปราะบาง ที่มีทั้งผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ คนพิการ โดยจะแจกหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ให้กับทุกคน
“เราเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เรามี 4 องค์กรหลักที่ร่วมมือกันทำงานอย่างเป็นระบบ ใช้ข้อมูลตำบล (TCNAP) และการวิจัยชุมชน (RECAP) มาประกอบในการวางมาตรการและรับมือ เช่น เรารู้ว่าชุมชนไหน หมู่บ้านไหน มีกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางอยู่เท่าไร ในชุมชน มีจุดแข็ง จุดด้อย อะไร มีผู้นำที่เข้มแข็งไหม มีใครที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลานี้ ทำให้เราสามารถเข้าถึงและจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น” นริศกล่าวทิ้งท้าย
พื้นที่ควบคุมจันทบุรี
เนื่องจาก จ.จันทบุรี เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกที่มีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว มีทั้งทะเล น้ำตก สวนผลไม้ อีกทั้งโบราณสถานที่มีเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่ขึ้นชื่อคือชุมชนริมน้ำจันทบูร เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวจีนและญวนอพยพตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านบางกะจะ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนคงวิถีชีวิตดั้งเดิม มีเทศกาลกินเจ เทศกาลทิ้งกระจาด การไหว้เจ้า มีศาลเจ้าถึง 3 ศาล ประเพณีตักบาตรเข้าพรรษาและออกพรรษาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานกว่าร้อยปี ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจะเข้ามาร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นที่ตั้งทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นแหล่งพลอยที่มีชื่อเสียงของโลก โดยเฉพาะบุษราคัม สันนิษฐานว่าเมื่อเขาพลอยแหวนระเบิด ทำให้แร่รัตนชาติไหลเป็นสายลงมากระจายอยู่ทั่วหมู่บ้านและริมคลองบางกะจะ
นักท่องเที่ยวสายบุญทั้งพุทธศาสนา คริสต์ และอิสลาม โดยเฉพาะความงามของวัดคาทอลิกจันทบุรี อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมลที่แม่พระประดับด้วยพลอย อาสนวิหารประจำมิสซังโรมันคาทอลิกจันทบุรี มีประวัติศาสตร์ก่อตั้งยาวนานถึง 275 ปี เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค ภายในตกแต่งด้วยกระจกสี (สเตนกลาส)
รวมทั้งกิจกรรมนักท่องเที่ยวเทรนด์สุขภาพ ศาลหลักเมืองและศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนจันทบุรีเคารพบูชาเป็นอย่างมาก ไหว้พระขอพรทั้ง 2 ศาล อีกทั้งเป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาได้ง่าย ใช้เวลาขับรถจากกรุงเทพฯ ด้วยเวลา 3 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้นักท่องเที่ยวจึงเลือกมาเที่ยวทั้งในวันธรรมดา และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
ผู้ที่เดินทางเข้า-ออกในพื้นที่ จ.จันทบุรี จะต้องเข้าไปรายงานตัวต่อสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่จะซักประวัติ ตรวจสอบไทม์ไลน์อย่างละเอียด.