“สมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง”บุกทำเนียบ 9 ก.พ. ยื่นหนังสือด่วนถึงนายกฯ คัดค้านคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ บริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด หลังคัดค้านมาต่อเนื่อง 5 เดือนคำตอบไม่ชัดเจน
นายธีระ วงษ์เจริญ รักษาการประธานสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.64 ได้มีการประชุมเครือข่ายคนจันท์ต้านเหมืองทอง 44 องค์กร(กลุ่มองค์กร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานท้องที่(กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) องค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชน)เพื่อรับทราบความคืบหน้าสถานการณ์คัดค้านคัดค้านการยื่นขอคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ในพื้นที่ 2 แปลงพื้นที่ 14,650 ไร่ ในต.พวา ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และก่อตั้ง ”สมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง” เพื่อการยกระดับองค์กรให้เป็นทางการมีเอกภาพและมีแนวทางการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นศูนย์กลางประสานภาคีเครือข่ายคัดค้านการทำเหมืองทองในจ.จันทบุรีและร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและต่อต้านการทำลายทรัพยากรที่มีคุณค่าของชุมชนนท้องถิ่นในจ.จันทบุรี โดยเครือข่ายคนจันท์ต้านเหมืองทอง 44 องค์กรยังคงดำเนินการต่อไปปฏิบัติการภายใต้สมาพันธ์ รวมทั้งองค์กรต่างๆที่มีแนวคิดเดียวกันเข้ามาร่วมกับสมาพันธ์เพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการรับรองข้อบังคับของสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง กำหนดจะมีการเลือกคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์จำนวน 15 คน ในวันที่ 4 มีนาคมนี้
“ความคืบหน้าของการยื่นขอคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด จากการยื่นหนังสือคัดค้านครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2563และล่าสุดเมื่อกลางเดือนมกราคม 2564 ได้ยื่นหนังสือยืนยันจุดยืนการคัดค้านไปยัง 4 หน่วยงาน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาและอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยื่นผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี แต่หน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้นำข้อคัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของชาวจันทบุรีมาพิจารณา
ที่ประชุมเห็นว่าเดือนกุมภาพันธ์จะมีการพิจารณาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศระหว่างรัฐบาลไทย กับ บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดประเทศออสเตรเลียเรื่องการเรียกร้องรัฐบาลกรณีปิดเหมืองทอง และอยู่ช่วงที่คณะกรรมการแร่ พิจารณาคำขออาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ภายใน 90 วันด้วย สมาพันธ์จำเป็นต้องต้องดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้าน ชี้แจงเหตุผลกับนายกรัฐมนตรีโดยตรงอย่างเร่งด่วน
ในวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564ทางตัวแทนองค์กรเครือข่ายในสมาพันธ์จำนวน 50-60 คน จะเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านที่ทำเนียบรัฐบาลชี้แจงเหตุผลความเดือดร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ ซึ่งหากมีการอนุมัติจะแก้ไขยาก” รักษาการประธานสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทองกล่าว
ทางด้านนางอินทิรา มานะสกุล รองประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม หมู่บ้าน(ทสม.) จังหวัดจันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมกับ”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า จากการประชุมร่วมกันของสมาพันธ์ได้สรุปเหตุผลความเดือนร้อนอันอาจจะเกิดขึ้นจากการออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำประกอบคำคัดค้านให้ยุติการออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัดเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี 3 ข้อ คือ
1) บริเวณที่จะดำเนินการสำรวจอยู่ในพื้นที่ติดกับป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก เนื้อที่ประมาณ 1,200,000 ไร่ ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์ป่าเขาอ่างฤาไน อุทยานแห่งชาติเขาวง-เขาชะเมา อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาสอยดาวและอุทยานแห่งชาติเขาคิชกูฎ บริเวณดังกล่าวอยู่ติดกับเขตลุ่มน้ำคลองวังโตนดพื้นที่ 1,839 ตารางกิโลเมตร (1,150,000 ไร่)
นอกจากเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรีแล้วยังแบ่งปันไปช่วยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC )
ที่สำคัญยังเป็นที่อยู่ของช้างป่าประมาณ 400 เชือก ประชากรช้างป่ามีอัตราการเพิ่มประมาณ 8 % ดังนั้นหากมีการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและการขอประทานบัตรเหมืองแร่ในอนาคต ย่อมก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารโลหะหนักในแหล่งน้ำ ส่งผลต่อผู้คนในจังหวัดจันทบุรีและภาคตะวันออกรวมทั้งจะสูญเสียพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวของจังหวัดจันทบุรีด้วย
2) แผนพัฒนาจังหวัดจันทบุรีดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์”จันทบุรีเมืองเกษตรปลอดภัย เศรษฐกิจมูลค่าสูง สังคมมีสุขบนวิถีพอเพียง”ประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรี 4 มิติ คือ การเกษตร อัญมณี การท่องเที่ยวและการค้าชายแดน รายได้ครึ่งหนึ่งของจังหวัดมาจากภาคเกษตร สร้างมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจให้ชาวจังหวัดจันทบุรีและประเทศแต่ละปีประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท มีผลผลิตส่งออกปีละ 600,000 ตันอัตราการเติบโตต่อเนื่อง 7-10%
และความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติทำให้การท่องเที่ยวปี 2562 มีมูลค่าถึง 10,320 ล้านบาท ปี 2563 แม้ว่าจะมีสถานการ์โควิด-19 ยังทำรายได้ถึง 7,874 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ารายได้จากค่าภาคหลวงแร่
ดังนั้นหากมีการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและการขอประทานบัตรเหมืองแร่ในอนาคตย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรีและประเทศ
และ3) การยื่นขอออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการนำไปสู่การออกประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ในอนาคต เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนและประชาชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสุขภาพ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดจันทบุรี
เนื่องจากกระบวนการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ตั้งแต่การระเบิดหิน การแต่งแร่ และการประกอบโลหะกรรมมีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณมาก โดยเฉพาะสารไซยาไนต์ ยิ่งกว่านั้นในหลายๆจังหวัดที่มีการเปิดประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ชุมชนและประชนประสบปัญหาดังกล่าวอย่างรุนแรง และยังไม่ได้รับการแก้ไขเชิงประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม