กรมวิทย์ฯ พบสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้น แพร่เร็ว หากก้าวกระโดดอาจแทนอัลฟา 2-3 เดือนกินสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง เผยฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ป้องกันสายพันธุ์อินเดียได้ 92%
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
วันที่ 16 มิ.ย.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจสอบสายพันธุ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า จากตัวอย่างเชื้อที่ส่งเข้ามายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 7 เม.ย. – 13 มิ.ย. จำนวน 5,055 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 4,528 ราย คิดเป็น 89.6% สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เดิมพบ 359 ตัวอย่าง คิดเป็น 7.1% เพิ่มเป็น 496 ตัวอย่าง คิดเป็น 9.8% พบใน กทม.มากสุด 404 ราย โดย 10 ราย จาก รพ.ใจกลาง กทม. 3-4 แห่ง, ปทุมธานี 28 ราย, นครนายก 8 ราย, สกลนคร 3 ราย, พะเยา 2 ราย, อุบลราชธานี 2 ราย, เชียงราย เพชรบูรณ์ ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น อุดรธานี เลย และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 ราย
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่พบใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เดิมพบ 26 ราย ขณะนี้พบเพิ่มอีก 2 ราย นอก อ.ตากใบ แต่ยังอยู่ใน จ.นราธิวาส ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและยังพบอีก 3 ราย ในสถานกักตัวคน จ.สมุทรปราการ สำหรับเดินทางมาจากต่างประเทศ
“สายพันธุ์เดลตาแพร่เร็วกว่าอัลฟา 40% ต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิดเป็นรายสัปดาห์ หากสถานการณ์ยังทรงๆ อาจจะไม่มีปัญหา แต่หากยังมีการแพร่ระบาดแบบก้าวกระโดด คาดว่าประมาณ 2-3 เดือน อาจจะระบาดมากขึ้นเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งกับสายพันธุ์อัลฟา สำหรับสายพันธุ์เดลตาในต่างจังหวัดมีความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อใน กทม. มาก่อน โดยเฉพาะแคมป์คนงานหลักสี่ ทั้งนี้ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ต้องการทำให้ตกใจ แต่เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและเฝ้าระวังควบคุมโรค” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม จากคน 200 คน โดยนำเลือดหรือซีรัมมาตรวจสอบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ต่างๆ พบว่า สายพันธุ์ดั้งเดิมภูมิคุ้มกันขึ้น 100% สายพันธุ์อัลฟาภูมิคุ้มกันขึ้น 50-60% นอกจากนี้ จะตรวจเพิ่มเติมผู้ที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มเป็นเวลา 3 เดือน และ 6 เดือน รวมถึงคนที่ฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก และจะทำการทดสอบกับเชื้อเดลตาและเบตา เพื่อดูถึงประสิทธิภาพวัคซีน
นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า การตรวจสายพันธุ์ต่างๆ เป็นการสุ่มตรวจเพื่อเป็นแนวทางเฝ้าระวัง โดยจะสุ่มตัวอย่างจาก 1.กลุ่มที่มีอาการรุนแรง 2.กลุ่มที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ 3.พื้นที่ที่ไม่เคยระบาดแต่มีการพบเชื้อ 4.ตามชายขอบชายแดน และ 5.กลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ
ด้านบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้เผยแพร่ข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อโควิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) โดยระบุว่า ข้อมูลล่าสุดจากสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (PHE) แสดงให้เห็นว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าครบทั้ง 2 เข็ม มีประสิทธิผลสูงถึง 92% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีผู้ที่เสียชีวิตจากสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2 เดิมคือสายพันธุ์อินเดีย) และสามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7 เดิมคือสายพันธุ์อังกฤษ) โดยมีประสิทธิผลสูงถึง 86% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีรายงานการเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน ส่วนประสิทธิผลต่อการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการน้อย พบว่า มีประสิทธิผลสูงถึง 74% ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์อัลฟา และ 64% จากสายพันธุ์เดลตา