ศบค.เปิดไทม์ไลน์จัดสรรวัคซีนละเอียดยิบ อัดวัคซีนเพิ่มเป็น 150ล้านโดสในปี 65 ครอบคลุมทุกความต้องการทุกกรณี ด้านจุฬาฯ เผยผลวิจัยซิโนแวคเข็ม 2 การันตีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิด ขณะที่ “หมอยง” ขออาสาสมัครทดลองฉีดวัคซีนสลับชนิด
เมื่อวันศุกร์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธาน ว่าสำหรับเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนของแต่ละจังหวัดในเดือน ก.ค. โดยกำหนดเป้าหมายไว้ 10 ล้านโดส ซึ่งจะพิจารณาจัดสรรให้ผู้ที่จองวัคซีนล่วงหน้าในระบบหมอพร้อมสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง และพิจารณาให้ กทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างน้อย 5 ล้านโดสภายในเดือน ก.ค. และจะพิจารณาให้ จ.ภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็มที่สองอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายใน ก.ค.
นพ.ทวีศิลป์ระบุด้วยว่า ทั้งนี้ สำหรับวัคซีน 10 ล้านโดสในเดือน ก.ค. จะมีการจัดสรรให้จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ร้อยละ 30 ได้แก่ กทม. (รวม ทปอ.และประกันสังคม) 2.5 ล้านโดส, สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี 6 แสนโดส และจังหวัดที่มีแผนเปิดท่องเที่ยวได้แก่ จ.ภูเก็ต 2 แสนโดส, จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด ร้อยละ 25 หรือ 2.5 ล้านโดส เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสนโดส โดยมี 23 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) พังงา และกระบี่
นพ.ทวีศิลป์ระบุด้วยว่า ส่วนที่เหลืออีก 49 จังหวัด จะได้รับการจัดสรรร้อยละ 35 หรือ 3.5 ล้านโดส เฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส โดยจะมีการเก็บไว้เป็นส่วนกลาง องค์กรภาครัฐและสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดอีกร้อยละ 10 หรือ 1 ล้านโดส ซึ่งการจัดสรรขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่บริษัทผู้ผลิตส่งมอบและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์การระบาดของโรค
“ในที่ประชุมเห็นชอบเพิ่มกรอบการจัดสรรวัคซีนจาก 100 ล้านโดสภายในปี 64 เป็น 150 ล้านโดสภายในปี 65 เพื่อรองรับกรณีที่ต้องมีการเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย เพื่อกระตุ้น ภูมิคุ้มกันโรค หรือกรณีอื่นใดที่ต้องมีการใช้วัคซีนเพิ่มเติม ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาและดำเนินการจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส ดังนั้น จึงต้องเตรียมงบประมาณสำหรับจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดส โดยให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนวัคซีนดังต่อไปนี้ ซิโนแวค 28 ล้านโดส วัคซีนโควิดอื่นๆ ประมาณ 22 ล้านโดส ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนและสถานการณ์ของเชื้อกลาย” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรีได้โทรศัพท์พูดคุยกับ นายหยาง ซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งนี้ นายกฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุม ศบค.ว่า อุปทูตจีนยืนยันว่าจะส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติมจากยอดที่ได้จองซื้อไว้ก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย. ประกอบไปด้วย วัคซีนยี่ห้อซิโนแวค จำนวน 2,000,000 โดส และซิโนฟาร์มอีก 1,000,000 โดส
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งถึงแล้ว 1 ล้านโดส อยู่ระหว่างตรวจรับรองรุ่นการผลิต เตรียมกระจายในบ่ายนี้ หรืออย่างช้าสุดวันที่ 19 มิ.ย. ไปในพื้นที่ตามโควตาของ ศบค. โดยในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมตั้งเป้าฉีดในผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เชื่อไม่กระทบต่อภาพรวมการฉีดวัคซีนและในสัปดาห์หน้าซิโนแวคจะเข้ามาเพิ่มอีก 2 ล้านโดสในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ส่วนแอสตร้าฯ ยืนยันทยอยเข้าทุกสัปดาห์ แต่ไม่ขอระบุจำนวนว่ามาเท่าไหร่ ไม่น้อยกว่าเดิม แต่เป็นไปตามข้อตกลงที่วางไว้ ระหว่างบริษัท แอสตร้าฯ และกรมควบคุมโรค
“โดยกรอบเดิมของวัคซีนแอสตร้าฯ กำหนดที่ 6 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน จากนั้นทยอยเดือนละ 10 ล้านโดส แต่เป้าหมายของการฉีดวัคซีนยังต้องจัดเพิ่มให้ได้ 150 ล้านโดส ตอนนี้จากการเจรจามีวัคซีนแล้ว 105 ล้านโดส ต้อง การเพิ่มอีกประมาณ 45 ล้านโดส เพื่อให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมถึงปีหน้า” นายอนุทินระบุ
วันเดียวกัน เว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ผลการวิจัยในคนไทย หลังฉีดวัคซีน Sinovac โดยศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐ) ได้ทำการทดสอบเลือดของผู้ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม ต่อการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส SARS-CoV-2 ในห้องทดลอง พบว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีน Sinovac ที่ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ มีผลช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสที่ SARS-CoV-2 ได้
ผลการวิจัยพบว่า ร้อยละ 95 ของผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส จากการตรวจภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนของไวรัส (วิธี ELISA) จากจำนวนทั้งหมด 186 คน จึงมั่นใจได้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้นกัน นอกจากนี้ ในการทดสอบเลือดของผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคกับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่มีชีวิต หลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 นาน 2 สัปดาห์ จำนวน 171 คน พบว่ามากกว่าร้อยละ 70 มีภูมิในระดับที่ยับยั้งเชื้อได้ดีในห้องทดลอง
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือหมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุใจความว่า ต้องการอาสาสมัครรับวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดกัน ในปัจจุบันการให้วัคซีนโควิด-19 ยังแนะนำให้วัคซีนชนิดเดียวกันทั้งเข็มที่หนึ่งและสอง ด้วยเหตุผลบางคนฉีดแข็มแรกแล้วแพ้ จำเป็นต้องฉีดเข็มที่สองต่างชนิดกันเช่น เข็มแรกฉีด Sinovac เข็มที่สองฉีดเป็น AstraZeneca
“การให้วัคซีน 2 เข็มต่างชนิดกันจะเป็นประโยชน์ในกรณีที่วัคซีนขาดแคลน และต้องการฉีดเข็มแรกให้มากที่สุด ไม่ต้องเก็บวัคซีนไว้เข็มที่สอง และเมื่อมีวัคซีนเข็มที่สอง อาจจะใช้ต่างชนิดกันได้ ดังนั้นการสลับเปลี่ยนวัคซีนจึงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดก่อนที่จะนำไปใช้จริง โดยผู้ที่สนใจเป็นอาสาสมัครสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เชี่ยวชาญต้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 0-2256-5324 และ 0-2256-4909” นพ.ยงระบุ
ที่สถานีตำรวจนางเลิ้ง น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมาที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งความดำเนินคดีในข้อหากระทำผิดนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยคาดว่าน่าจะมาจากกรณีที่ได้ทวีตภาพข่าวของสำนักข่าวไทยพีบีเอสที่ระบุว่า “เศรษฐีอินเดียแห่บินหนีโควิด-19 บางลำบินเข้าไทย”.