22 มิ.ย.64 – ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จตช.ได้เรียกประชุม เร่งรัดติดตามเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ข้าราชการตำรวจ ผ่านระบบประชุมทางไกล VDO Conference กับผู้แทนทุกกองบัญชาการทั่วประเทศ โดยมี พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช รอง จตช. พล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรธนะ จตร.(หน.จต) พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ จตร. และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของจเรตำรวจ รวมถึง รอง ผบช. ซึ่งทำหน้าที่จเรตำรวจของแต่ละกองบัญชาการเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร ได้มอบหมายให้ติดตามเร่งรัดเรื่องร้องเรียนให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ เช่น กรณีทุจริตเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 กรณีบ่อนการพนันที่เป็นคลัสเตอร์โควิด-19 กรณีละเว้นการดำเนินการรถขนตู้สล็อตในเขต สภ.โชคชัย โคราช กรณี ตชด. ภาคใต้ร้องเรียนผู้การ กรณี ตชด.รีดเงินและปล่อยตัวคดียาเสพติดในเขตจันทบุรี เป็นต้น รวมถึงเร่งรัดติดตามผลการดำเนินการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชนและตำรวจที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมและสามารถตอบคำถามสังคม โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม
พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวถึงกรณีสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน พ.ค.2564 ทาง จตช.ได้สั่งการให้ สำนักงานจเรตำรวจ สำรวจสถิติเรื่องร้องเรียนที่ยังคงค้างอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนร้องทุกข์ ก็มีการส่งเรื่องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ไม่เคยมีการติดตามผลว่าเรื่องเสร็จสิ้นไปแล้วอย่างไร และเรื่องที่เสร็จสิ้นไปแล้วปรากฏผลที่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องอย่างไร ทำให้สังคมขาดความเชื่อถือและมีข้อสงสัยในการให้ความเป็นธรรมของตำรวจ จนต้องไปพึ่งพาหน่วยงาน องค์กร บุคคลอื่น ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ ผบ.ตร.ให้ความสำคัญ และมอบหมายให้ จตช.เร่งติดตามแก้ไข โดยหลังการตรวจสอบพบว่ามีเรื่องร้องเรียนค้างเก่าของทุกกองบัญชาการ ในช่วงปี 2558-2564 (มิ.ย.) จำนวนถึง 10,154 เรื่อง มีการดำเนินการแล้วเสร็จ 6,614 เรื่อง เหลืออีก 3,540 เรื่อง โดยหลังจาก จตช.นำเข้าที่ประชุมบริหาร ตร. เมื่อ 25 พ.ค.2564 ซึ่งในที่ประชุม ผบ.ตร.ได้สั่งการให้ทุกหน่วยไปเร่งรัดการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จากนั้นเพียง 2 สัปดาห์ ปรากฏว่าทุก บช.ได้มีการดำเนินการเร่งรัดเรื่องคงค้าง จนลดไปแล้ว 580 เรื่อง
พล.ต.อ.วิสน กล่าวอีกว่า ตนได้สั่งให้มีการประชุมเพื่อเร่งรัดให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยในที่ประชุมครั้งนี้ได้รับฟังรายงานจาก รอง ผบช.ที่ทำหน้าที่จเรตำรวจทุก บช. และได้สั่งการในประเด็นสำคัญคือ วางกรอบเวลาในการดำเนินการ การตรวจสอบต้องคำนึงถึงการขับเคลื่อนทั้งปริมาณ และคุณภาพข้อเท็จจริงด้วย ซึ่งหมายถึงนอกจากจะลดจำนวนเรื่องคงค้างแล้ว ผลของการแล้วเสร็จต้องปรากฏผลที่ต้องสามารถตอบคำถามสังคมได้อย่างสิ้นความสงสัยได้ด้วย เพราะหากประชาชนเห็นว่า ไม่สามารถพึ่งพาหรือไว้ใจการขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้ ประชาชนก็ต้องขอความช่วยเหลือด้วยวิธีอื่น เช่น พึ่งกระแสโซเชียล พึ่งสื่อมวลชน หรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งทำให้ตำรวจที่ดีและตั้งใจทำงานส่วนใหญ่เกิดความเสียหายจากการสร้างความเสียหายของตำรวจบางส่วน และการเพิกเฉยของตำรวจที่มีหน้าที่กำกับดูแล
โดยเฉพาะเรื่องทุจริตของข้าราชการตำรวจที่สังคมให้ความสนใจ ที่จเรตำรวจได้ตรวจสอบพบว่ามีมูลจนนำไปสู่การดำเนินการทางวินัยในขณะนี้ ก็ต้องพิจารณาทัณฑ์ที่เหมาะสมกับความผิดอย่างตรงไปตรงมา เพราะต้องรายงานข้อมูลให้ ปปช. ทราบ อีกชั้นหนึ่ง เช่น กรณี ปปช.สั่งดำเนินคดีอาญากับอดีต ผกก.สภ.ทุ่งสง กรณีทุจริตเบี้ยเลี้ยงโควิด19 รวมถึงได้ชี้แจงแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนระบบร้องเรียนออนไลน์ หรือ JCoMS ซึ่งถอดบทเรียนเพื่อเร่งพัฒนาระบบให้ทำงานรองรับความเดือดร้อนบองผู้ร้องได้อย่างเต็มที่ต่อไป
นอกจากนั้น จตช.ได้นำกรณีการกระทำผิดระเบียบกฏหมาย การละเลย ไม่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของประชาชน มากำชับเป็นตัวอย่างในที่ประชุม ได้แก่ การนำรถของกลางคดีไปใช้ส่วนตัวของตำรวจ สน.บางนา โดยพลการ และกรณีที่เพิ่งปรากฏข่าวล่าสุด เมื่อ 21 มิ.ย.2564 ข่าวประชาชนร้องผ่านสื่อมวลชนว่า มีอุบัติเหตุรถยนต์กระบะแหกโค้งพลิกหงายท้องทับกำแพงบ้านเสียหาย ตั้งแต่ 3 พ.ค.2564 แต่คนขับหลบหนี ซึ่งแจ้งความตำรวจ สภ.สามพรานแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่ง จตช.ได้สั่งการให้ รอง ผบช.ภ.7 เร่งแก้ปัญหาและตรวจสอบข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชน แล้วให้รายงานผลให้ทราบโดยเร็ว
หลังจากนี้ จตช.ได้ให้นโยบาย จเรตำรวจ โทรติดตามผลความพึงพอใจของผู้ร้องเรียน เพื่อนำมาประเมินประสิทธิภาพการดำเนินการ เพื่อนำมาแก้ไขพัฒนาสร้างความมั่นใจให้กับกระบวนการตรวจสอบขององค์กรตำรวจตามเจตนารมย์ของ ผบ.ตร ต่อไป