กรมอุตุฯออกประกาศเตือนฉบับที่ 2 “พายุโซนร้อน “เจิมปากา” คาดเคลื่อนขึ้นฝั่ง ประเทศจีนตอนใต้ ช่วง 21-22 ก.ค. 64 ส่งผลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำฝนตกร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ยันโซนร้อน “ยีนฟ้า” ไม่กระทบไทย
วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยลักษณะอากาศ ฉบับที่ 2 เรื่อง พายุโซนร้อน “เจิมปากา” ทวีกำลังแรงขึ้นแล้ว คาดเคลื่อนขึ้นฝั่ง ประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 21-22 ก.ค. 64 ส่งผลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำฝนตกร้อยละ40-60 ของพื้นที่
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น.ของวันนี้ (19 ก.ค. 64) พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “เจิมปากา”แล้ว มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 21.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.6 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองเหมาหมิง ประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 21-22 ก.ค. 64 พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กรมอุตุฯยังรายงานว่า ในส่วนของพายุโซนร้อน “ยีนฟ้า” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
สำหรับชื่อของ ยีนฟ้า (IN-FA (2106)) แปลว่า ดอกไม้ไฟ เป็นชื่อจากเขตบริหารพิเศษมาเก๊า
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 17:00 วันนี้ ถึง 17:00 วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่
ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด
ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี
กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม และสมุทรสงคราม
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร
อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
อุณหภูมิต่ำสุด 21-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.