เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
จันทบุรี - กระแสทุเรียนเมืองจันท์ฟีเวอร์ ทำเกษตรกรพื้นที่เร่งเพิ่มพื้นที่ปลูกรองรับตลาดในปีหน้า ขณะข้อมูลกองทุนพัฒนาทุเรียนไทย ระบุตัวเลขส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกไปจีนปี 2565 ทะลุกว่า 500,000 ตัน นับเป็นตัวเลขสูงที่สุดเท่าที่เคยมี
วันนี้ (24 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายโอภาส สุขยืนนานยิ่ง ชาวบ้าน ต.แสลง อ.เมือง จ.จันทบุรี ว่า กระแสทุเรียนจันทบุรีฟีเวอร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ทำให้มูลค่าการส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ และมูลค่าการขายในประเทศของทุเรียนจันทบุรีสูงเป็นอันดับต้นๆ ของไทย ทำให้ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ได้พากันตัดโค่นต้นมังคุด และหันมาปลูกทุเรียนแทน
โดยพบว่าพันธุ์ทุเรียนที่เกษตรกรนิยมนำมาปลูกมากเป็นอันดับ 1 คือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด
และจากข้อมูลของกองทุนพัฒนาทุเรียนไทยที่ได้บันทึกความสำเร็จของการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกไปประเทศจีนในฤดูกาลผลิตปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า สามารถฝ่าด่านการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอุปสรรคหลายด้านได้เป็นอย่างดี จนทำให้มียอดส่งออกทะลุกว่า 500,000 ตัน นับเป็นตัวเลขสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการส่งออกมา
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมตัวเลขการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย จนทำให้ทุเรียนไทยกลายเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับ 1 ของไทยแซงหน้าข้าว และยางพารา
“ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ จ.จันทบุรี ได้เร่งเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด เช่นเดียวกับสวนของเราจากเดิมที่เคยปลูกประมาณ 400 ต้น เพิ่มเป็น 1,500 ต้น ในเนื้อที่ 60 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิตในปีหน้าเพิ่มอีกถึง 140 ตัน แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือน้ำ ที่ขณะนี้ทางสวนได้เริ่มนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ด้วยการขุดสระน้ำให้ลึกกว่าเดิมเพื่อให้เพียงพอ”
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการใช้เทคโนโลยีจากเครื่องจักรกล เช่น รถพ่นสารเคมีเข้าทดแทนแรงงานคน พบว่าได้ผลดี สะดวกรวดเร็ว ทันต่อสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกทั้งยังลดค่าจ้างแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องใช้เงินในการจ้างแรงงานวันละ 500-600 บาทและจะต้องใช้คนงานถึง 10 คน
“การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านแรงงานได้เกินครึ่ง จึงขอฝากถึงเกษตรกรมือใหม่ว่าจะต้องศึกษาให้ดีว่าการทำเกษตรกรรมแหล่งน้ำต้องพร้อม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำจากธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำใต้ดิน และในส่วนของแปลงปลูกจะต้องจัดเตรียมแปลงให้สามารถรองรับเครื่องจักรเครื่องมือ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อประหยัดแรงงาน ที่ในวันข้างหน้าจะหาแรงงานได้ยากขึ้น” นายโอภาส กล่าว