วันที่ 31 มี.ค. 2565 เวลา 15:56 น.
โดย…ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
***************
ในการพิจารณาว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจในทางปฏิบัติแค่ไหนนั้น ในตอนที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีกระทรวงต่างๆในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เปลี่ยนรัชกาลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2453) จะพบความแตกต่างในความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีกระทรวงต่างๆ
ด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์ทรงมีความ “อาวุโส” และ “ความเป็นผู้นำ” เพราะส่วนใหญ่ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีล้วนแต่เป็น “พระอนุชา” หรือไม่ก็เป็นเสนาบดีที่เคยเป็นผู้อยู่ภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์มาก่อน อีกทั้งพระมหากษัตริย์เป็นผู้ริเริ่มการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน จัดตั้งกระทรวงทบวงกรมขึ้นและเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลที่พระองค์ทรงเห็นสมควรลงในตำแหน่งต่างๆ
ส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในช่วงต้นรัชกาล บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีล้วนแต่เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งสืบเนื่องมาแต่รัชกาลก่อน และมีความ “อาวุโส” กว่าพระองค์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางสามัญชน
ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรณีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหมและกระทรวงธรรมการไปแล้ว ต่อไปคือ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยจะกล่าวถึงผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีของกระทรวง ตั้งแต่ พ.ศ. 2435 อันเป็นปีที่มีการปฏิรูประบบราชการ จัดตั้งกระทรวงทบวงกรม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะเดียวกัน จริงๆแล้ว ได้มีการตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติมาตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418 และจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ กรมพระคลังมหาสมบัติจึงมีฐานะเป็นกระทรวง แต่ยังไม่มีพระราชบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ของกระทรวง ต่อมาในปี พ.ศ. 2433 ได้มีการตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433 ยกฐานะกรมพระคลังมหาสมบัติเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่สำหรับ รับ จ่าย และรักษา เงิน แผ่นดิน ทั้งสรรพราชสมบัติพัสดุทั้งปวง กับถือบัญชีพระราชทรัพย์สำหรับแผ่นดินทั้งสิ้น และเก็บภาษีอากรเงินขึ้นแผ่นดินตลอดทั่วพระราชอาณาจักร มีเสนาบดีรับผิดชอบบังคับราชการในกระทรวงสิทธิ์ขาด ประกอบด้วยกรมเจ้ากระทรวงและกรมขึ้น รวมเป็นกรมใหญ่ 13 กรม
ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้แบ่งหน่วยราชการส่วนกลางเป็น 12 กระทรวง จัดสรรอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน ไม่ก้าวก่ายในการปฏิบัติราชการ โดยมีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งกระทรวงแบบใหม่ จึงกล่าวได้ว่า กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งและพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยระเบียบการปฏิบัติงานในปี พ.ศ. 2435
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กรมขุนศิริธัชสังกาศ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
ถ้านับตั้งแต่ พ.ศ. 2435 จนถึงสิ้นรัชกาลที่ห้าในปี พ.ศ. 2553 มีผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4 พระองค์/คน และเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆในช่วงเวลาเดียวกัน จะพบว่า ความถี่ในการเปลี่ยนตัวเสนาบดีอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ดังเห็นได้ดังต่อไปนี้
กระทรวงมหาดไทย 1 กระทรวงกลาโหม 3 กระทรวงธรรมการ 2 กระทรวงการต่างประเทศ 1 กระทรวงนครบาล 2 กระทรวงยุติธรรม 3 กระทรวงโยธาธิการ 7 กระทรวงวัง 7
กระทรวงที่เปลี่ยนเสนาบดีมากที่สุดมีสองกระทรวงคือ กระทรวงโยธาธิการและกระทรวงวัง 7 พระองค์/คน และที่ไม่เปลี่ยนเลยคือ กระทรวงมหาดไทย 1 พระองค์ คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) กรมพระจันทบุรีนฤนารถ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม
และถ้าพิจารณาความถี่ในการเปลี่ยนตัวเสนาบดีกระทรวงภายใต้กระบวนการทางการเมืองสมัยใหม่ กระทรวงที่มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบ่อยมากก็น่าจะต้องมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการ อย่างเช่นภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน จะพบว่า มีหลายประเทศที่ต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีจากปัญหาโรคระบาดหรือเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคระบาด เช่น นิวซีแลนด์: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลาออกจากตำแหน่งหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ โดยได้ขับรถพาครอบครัวไปเที่ยวชายหาด ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
อาร์เยนตินา: รัฐมนตรีสาธารณสุขลาออก สาเหตุจากการให้อภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มลัดคิวฉีดวัคซีนโควิด-19
เปรู: รัฐมนตรีสาธารสุขเปรูลาออก สาเหตุจากการใช้อำนาจในฐานะรัฐมนตรี ลัดคิวการฉีดวัคซีนให้กับอดีตประธานาธิบดีเปรู
จอร์แดน: รัฐมนตรีมหาดไทยและรัฐมนตรียุติธรรมลาออก หลังทั้งสองคนถูกเปิดเผยว่า ละเมิดข้อกำหนดล็อกดาวน์ จากการเข้าร่วมงานปาร์ตี้ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งสื่อท้องถิ่นของจอร์แดนระบุว่า รัฐมนตรีทั้งสองคนร่วมงานปาร์ตี้ที่มีผู้เข้าร่วม 9 คน ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดให้รวมกลุ่มกันได้สูงสุด 6 คนเท่านั้น ขณะเดียวกันภาพที่เผยแพร่ออกมายังพบว่า รัฐมนตรีทั้งสองคนไม่รักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดด้วย
บราซิล: เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นครั้งที่สี่ตั้งแต่เริ่มโรคระบาด
บราซิล: รัฐมนตรีต่างประเทศลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกวิจารณ์ถึงความล้มเหลวทางการทูต จนทำให้บราซิลได้รับวัคซีนโควิด-19 น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ปารากวัย: ประธานาธิบดีปารากวัยขอให้คณะรัฐมนตรีลาออก เพราะประชาชนไม่พอใจจากความล้มเหลวในการรับมือกับโรคระบาด
สาธารณรัฐเช็ก: เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นคนที่สี่ในหนึ่งปี จากความล้มเหลวในนโยบายรับมือโรคระบาด
สหราชอาณาจักร: รัฐมนตรีสาธารณสุขลาออก แต่ไม่ใช่มาจากสาเหตุรับมือโควิด-19 ไม่ได้ แต่เป็นเพราะหลังถูกแฉคลิปกอดจูบผู้ช่วยสาว ละเมิดมาตรการเว้นระยะห่างอินเดีย: รัฐมนตรีสาธารณสุขลาอออก เพื่อรับผิดชอบต่อความล้มเหลว ที่ไม่สามารถบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ จนทำให้ผู้ติดเชื้อในระลอกสองพุ่งขึ้นถึงหลักแสน ซ้ำยังเตียงขาดแคลน ออกซิเจนไม่เพียงพอ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีในระบบการเมืองสมัยใหม่จะมาจากกระแส “ไม่นิยม” ของประชาชน จนทำให้ตัวรัฐมนตรีขอลาออกเอง หรือไม่นายกรัฐมนตรีก็ปลดหรือขอให้ลาออก หรือไม่ก็ประมุขของรัฐคือ ประธานาธิบดีปลดหรือขอให้ลาออก ทั้งนี้ไม่นับการเสียชีวิต
ส่วนในระบบการเมืองราชาธิปไตย การเปลี่ยนตัวเสนาบดีก็มีสองสาเหตุหลัก ประการแรกคือ เสนาบดีขอลาออกเอง หรือพระมหากษัตริย์ต้องการเปลี่ยนตัวด้วยสาเหตุต่างๆ แต่ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับกระแสนิยมหรือไม่นิยมของไพร่ฟ้าราษฎรมากเท่าระบบการเมืองสมัยใหม่
ทั้งนี้ไม่นับการเสียชีวิตเช่นกัน อีกทั้งในระบบการเมืองสมัยใหม่ อาจจะมีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีได้ หากมีปัญหาในการบริหารกิจการของรัฐ แต่ในระบบราชาธิปไตย การเปลี่ยนตัวพระมหากษัตริย์จะต้องเกิดจากการใช้กำลังแย่งชิงบัลลังก์กัน ดังที่เกิดขึ้นในการเมืองสมัยอยุธยาที่มีการรัฐประหาร 16 ครั้งใน 32 รัชกาลเป็นอย่างน้อยในช่วงระหว่างพ.ศ. 1913-2325 โดยเกิดจากการต่อสู้แย่งชิงภายในราชวงศ์เดียวกัน หรือระหว่างราชวงศ์เก่าและใหม่ หรือระหว่างผู้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชที่เป็นพระราชอนุชากับพระราชโอรส หรือการแย่งชิงราชบัลลังก์โดยขุนนางเสนาบดีที่ทรงอำนาจ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งคุมกกำลังทหารอย่างตำแหน่งเจ้าพระยากลาโหม
ตลอดระยะเวลา 412 ปีในสมัยอยุธยา ในรัฐประหารจำนวน 16 ครั้ง มีทั้งที่เกิดถี่ติดๆกันและเว้นห่าง และในการรัฐประหารทั้งหมดนี้เป็นการแย่งชิงภายในราชวงศ์ 11 ครั้ง ระหว่างราชวงศ์ 1 ครั้งและแย่งชิงราชบัลลังก์โดยขุนนาง 4 ครั้ง กลับมาที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติในสมัยที่เรายังปกครองภายใต้ราชาธิปไตยที่กำลังเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ (ความเป็นรัฐสมัยใหม่ มิได้จำเป็นต้องมีการเมืองสมัยใหม่ แต่การเมืองสมัยใหม่จะเกิดขึ้นในรัฐสมัยใหม่ แต่การเมืองไทยปัจจุบันจะเป็นการเมืองสมัยใหม่ภายใต้รัฐสมัยใหม่ หรือเป็นการเมืองกึ่งใหม่กึ่งเก่าภายใต้รัฐกึ่งเก่ากึ่งใหม่ เพราะการเมืองไทยในยุคที่เรียกว่า “เข้าสู่การเมืองสมัยใหม่” ก็กลับมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีด้วยการรัฐประหารไม่ต่างรัฐโบราณสมัยอยุธยา !! คงต้องหาเวลาพูดถึงประเด็นดังกล่าวนี้โดยเฉพาะในโอกาสต่อไป)
เสนาบดีกระทรวงพระคลังฯพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย มีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชันษาอ่อนกว่า 10 ปี
ด้วยเหตุผลอะไร ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการในปี พ.ศ. 2435 ? และทำไม สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการอยู่เพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น (21 มีนาคม พ.ศ. 2435-23 ธันวาคม พ.ศ. 2437) ? โปรดติดตามในตอนต่อไป
(แหล่งอ้างอิง: พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 และ 2; https://www.mof.go.th/th/detail/2018-12-21-14-57-33/2018-12-21-16-02-08#:~:text=ปี%20พ.ศ.%202433%20ได้,สำหรับแผ่นดินทั้งสิ้น%20และเก็บ)