กรมชลประทานลงพื้นที่จันทบุรี หามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ ที่ผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างคลองวังโตนด เล็งเข้ารังวัด ปี65 พร้อมจ่ายชดเชยค่าเวนคืนเริ่มสร้างปี 66 ย้ำไม่เรียกเงินทอน มั่นใจ คนในพื้นที่ได้ประโยชน์100 %
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังลง ลงพื้นที่ร่วมรับฟังข้อเสนอของประชาชนลุ่มน้ำคลองวังโตนด ที่ศูนย์เรียนรู้องค์การบริหารส่วนตำบลขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เพื่อรับฟังข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบ จากการก่อสร้าง ว่า อ่างคลองวังโตนดมีความจุ 99.5 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จะใช้เพื่อคนในพื้นที่อย่างเต็มที่รวมทั้งจังหวัดจันทบุรี 100% และน้ำส่วนเกินในฤดูฝนจะผันไปเติมอ่างประแสร์ จ.ระยองเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจของภาคตะวันออก ซึ่งเมื่ออ่างสร้างเสร็จจะมีการสร้างระบบกระจายน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรซึ่งมีการปลูกทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญจำนวนมาก คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปี 2566 วงเงิน 6,400ล้านบาท
สำหรับเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจมีบางภาคส่วนไม่เข้าใจ กรมชลประทานพร้อมรับฟังคำชี้แนะ และชี้แจงโดยในเรื่องของช้างกรมจะทำตามข้อเสนอของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้นายเฉลิมเกียรติ ยังได้ลงพื้นที่หารือกับประชาชนหมู่ที่ 1 บ้านโป่งเกตุ ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ซึ่งได้รับผลกระทบประมาณ 324 ราย มีผู้ที่มีที่ดินต่ำกว่า 1 ไร่ประมาณ 120 ครัวเรือนจากจำนวนผลกระทบทั้งหมด580 ครัวเรือน ซึ่งหลังจากนี้เป็นขั้นตอนการรายละเอียดเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการและการดำเนินการตามงบประมาณตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มโครงการประมาณปี 2566 โดยกรมที่ดินจะเข้ารังวัดที่ดินปี 65 ทั้งนี้ราคาชดเชยสินไหมจะเป็นไปตามปีที่สำรวจ
“การชดเชยสินไหม ค่าต้นไม้ พืชผลการเกษตรกรมชลฯยินดีช่วยเหลือประชาชน หากราคาที่ดินเท่าไหร่กรมก็จ่ายเท่านั้น กรมชลฯจะไม่มีการหาแปลงอพยพให้ แต่จะชดเชยด้วยราคาเป็นธรรม ทั้งนี้ย้ำว่าจะไม่มีใครมาเรียกรับเงินทอนแน่นอนและฝากให้ประชาชนดูแลเรื่องนี้ ซึ่งจะประสานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อย่างใกล้ชิด”
นายเจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำคลองวังโตนด กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนกรมชลประทานในการขับเคลื่อนโครงการอย่างเต็มที่เพราะคนในลุ่มน้ำนี้ต่อสู้และรอมานาน ดังนั้นพร้อมอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนโครงการนี้ และพร้อมทำความเข้าใจกับภาคส่วนอื่นทั้งเรื่องป่าไม้ และช้างป่า ซึ่งทุกวันนี้สวนทุเรียนจันทบุรีทำรายได้ให้ประเทศนับแสนล้านบาทต่อปี
สำหรับเรื่องการชดเชยค่าสินไหมที่ดินนั้น ทางคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนดได้ตระหนักความเดือดร้อนนี้และได้หารือกับจังหวัดเพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชนบางรายซึ่งมีที่ดินต่ำกว่า 1 ไร่ประมาณ 100ครัวเรือนจาก580 ครัวเรือน ทั้งนี้จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทำบ้านมั่นคงชนบท เพื่อลดผลกระทบให้ประชาชน สำหรับเรื่องการตัดแปลงอพยพนั้น กรมชลฯไม่มีนโยบายดังกล่าวเพราะมีปัญหามาก
นายเดช จินโนรส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนซ่อง กล่าวว่า สำหรับเกษตรที่มีที่ดินน้อยอาจได้ค่าชดเชยไม่เพียงพอสำหรับการย้ายถิ่นฐาน กรมชลประทานและกรรมการลุ่มน้ำจะร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการจัดบ้านมั่นคงชนบทให้กับประชาชนกลุ่มดังกล่าว
นายจารึก ศรีอ่อน สส.จันทบุรี พรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวว่า ในฐานะสส.ของพื้นที่จะช่วยกรมชลฯดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอ่างเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่คนเมืองจันทร์รอคอย ดังนั้นจะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะทำงานลุ่มน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้เสียสละโดยเฉพาะประชาชนที่มีที่ดินไม่มาก