ศบค. ชุดใหญ่ พิจารณาขยายแผนจัดหาวัคซีนโควิด เพิ่มเป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565 แบ่งเกณฑ์จัดสรรวัคซีน 10 ล้านโดสกระจายทั่วประเทศ เดือน ก.ค.
วันที่ 18 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ประจำวัน นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ได้พิจารณาเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนแต่ละจังหวัด โดยมีเป้าหมายฉีดให้ได้ 10 ล้านโดส ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยมีการพิจารณา 3 เกณฑ์ ดังนี้
- พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้ผู้ที่จองล่วงหน้าในระบบหมอพร้อม คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังให้ได้รับการฉีดก่อน
- พิจารณาให้กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างน้อย 5 ล้านโดส ภายในเดือนกรกฎาคม 2564
- พิจารณาให้ จ.ภูเก็ต ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564
นอกจากนี้ยังพิจารณาการจัดสรรวัคซีนแบ่งตามจังหวัด ให้ได้รับการฉัดวัคซีนก่อน แบ่งเป็น 3 ระดับสี และจำนวนที่จะได้รับวัคซีน มีดังนี้
สีแดง 5 จังหวัด
จังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และจังหวัดเศรษฐกิจท่องเที่ยว
- กรุงเทพมหานคร (รวม ทปอ.และประกันสังคม) : ได้รับวัคซีน 2.5 ล้านโดส
- สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี : ได้รับวัคซีน 6 แสนโดส
- ภูเก็ต : ได้รับวัคซีน 2 แสนโดส
สีส้ม 23 จังหวัด
จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย) พังงา และกระบี่
ทั้ง 23 จังหวัดดังกล่าว จะได้รับวัคซีนรวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านโดส เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสนโดส
สีเขียว 49 จังหวัด
จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย จะได้รับวัคซีนรวม 3.5 ล้านโดส เฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส
อื่น ๆ
จัดสรรวัคซีน 1 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับหน่วยฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับการตอบโต้การระบาดของโรคโควิด
“ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการส่งมอบจัดสรรวัคซีนของบริษัทผู้ผลิต และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณาแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย จากเดิมที่มีการตั้งเป้าว่าจะจัดหา 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 อาจจะไม่พอ จึงขอเพิ่มการจัดสรรวัคซีนเป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565 ซึ่งจะต้องครอบคลุมและเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้ประเทศได้มากขึ้นหรือกระตุ้นภูมิคุ้มกันของโรค หรือกรณีอื่นใดที่ต้องมีการใช้วัคซีนเพิ่มเติม
ขณะนี้มีการจัดหาหรือเจรจาวัคซีนไว้แล้ว 105.5 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อีก 5 ล้านโดส
ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเตรียมหางบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดส โดยภาครัฐจะต้องจัดหาวัคซีน ได้แก่ ซิโนแวค ประมาณ 28 ล้านโดส และวัคซีนโควิดยี่ห้ออื่นอีก ประมาณ 22 ล้านโดส รวมแล้วทั้งสิ้นจัดหาเพิ่มอีก 50 ล้านโดส
“ทั้งนี้ กำหนดแผนไว้ เพื่อศึกษาก่อน ดูทิศทางข้างหน้า เรื่องของประสิทธิภาพของวัคซีน หรือสถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์ ก็จะได้วางทิศทาง ซึ่งบางทีอาจจะต้องมีเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 1 หรือเข็มที่ 2 ที่ต้องมีการสลับชนิดกัน ซึ่งตอนนี้ทางนักวิจัยกำลังคิดหาวิถีทางในการที่จะสู้กับเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ฉะนั้นตอนนี้เพื่อความมั่นคงก็เลยต้องขยายเพดานออกไปให้มากยิ่งขึ้นให้เป็น 150 ล้านโดส” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว