ศาลจันทบุรีพิพากษาจำคุก “จรัส” 2 ปี เหตุวิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงในข้อหาตามม.14(1) พ.ร.บ.คอมฯ แต่ลดเหลือ 1 ปี 4 เดือนแล้วให้รอลงอาญา แม้จะยกฟ้องม.112 เพราะร. 9 สวรรคตแล้วจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ทนายเตรียมอุทธรณ์ต่อเหตุศาลพิพากษาลงโทษในข้อหาที่ไม่ได้บรรยายไว้ในฟ้องเพราะอัยการฟ้องม.14(3) พ.ร.บ.คอมฯ กับม.112
30 พ.ย.2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าที่ศาลจันทบุรีวันนี้มีนัดฟังคำพิพากษาคดีม.112 จรัส(สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นวิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงลงใต้โพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “เพจจันทบุรี”
ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่าคดีนี้นิรุตต์ แก้วเจริญ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีกับจรัสที่ สภ.เมืองจันทบุรี โดยกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์เท่านั้นโดยไมได้ระบุข้อหา แต่อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจรัส พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เพียงข้อหาเดียว จากข้อความ ‘เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องวาทกรรมหลอกลวง เป็นการกดขี่คนจน ประชาชนเสียภาษีให้แก่พระมหากษัตริย์ แต่กษัตริย์ไม่ดูแลประชาชน’
แต่ภายหลังตำรวจส่งสำนวนคดีให้กับอัยการ อัยการแจ้งให้พนักงานสอบสวนกลับไปดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับจรัสเพิ่ม 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นําข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย
เหตุที่อัยการเจ้าของคดีเพิ่มข้อหาเนื่องจากอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ภายใต้คณะทำงานกำหนดแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายในคดีตามมาตรา 112 มีคำสั่งลงมา ส่วนทางด้านจรัสเลือกที่จะต่อสู้คดีจึงมีการสืบพยานในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาและมีคำพิพาษาในวันนี้
ศูนย์ทนายความฯ รายงานผลคำพิพากษาของศาลจันทบุรีว่าให้ยกฟ้องจรัสเฉพาะในข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจากไม่เป็นไปตามองค์ประกอบความผิดเพราะรัชกาลที่ 9 สวรรคตแล้ว แต่ศาลยังเห็นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 14(1) เนื่องจากเห็นว่าข้อความของจรัสกระทบความรู้สึกของประชาชน ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ก่อนเพราะจรัสยังเป็นนักศึกษา
ทั้งนี้ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าหลังจากนี้ก็จะมีการอุทธรณ์คดีต่อไป เนื่องจากคำพิพากษาของศาลวันนี้แม้ว่าในส่วนที่ศาลยกฟ้องข้อหาม.112 จะเป็นไปตามข้อกฎหมายเนื่องจากว่าการกล่าวถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 นี้กฎหมายไม่ได้คุ้มครองไปถึงกษัตริย์ไม่ได้ครองราชย์อยู่ แต่ศาลกลับพิพากษาลงโทษในข้อหาตามมาตรา 14 (1) ที่ฝ่ายโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงข้อหานี้มาด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้
ถึงสวรรคตไปแล้วแต่ยังคงเป็นกษัตริย์ที่อยู่ในใจ
ก่อนหน้านี้ที่จะมีคำพิพากษา ศูนย์ทนายฯ รายงานรายละเอียดการสืบพยานโดยสรุปไว้เกี่ยวกับคดีนี้ว่า นิรุตต์ แก้วเจริญ อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาได้เห็นข้อความเหตุแห่งคดีนี้เนื่องจาก กลุ่มเฟซบุ๊กชื่อว่า ‘เพจจันทบุรี’ ที่เขาเป็นสมาชิกอยู่นั้นมีคนตั้งกระทู้แสดงความเห็นว่าในสถานการ์ที่มีโควิด-19 ระบาดอยู่ควรนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้โดยไม่ได้มีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 ในโพสต์ แต่ตัวเขาเองรู้ว่าแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้นเป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ 9
ต่อมานิรุตต์ได้เห็นบุคคลหนึ่งแสดงความเห็นในทำนองว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องวาทกรรมหลอกลวง เป็นการกดขี่คนจน ประชาชนเสียภาษีให้แก่พระมหากษัตริย์ แต่กษัตริย์ไม่ดูแลประชาชน’ โดยผู้ที่ตอบข้อความในลักษณะเช่นนี้มีเพียงคนเดียวและพบว่าเป็นจำเลยในคดีนี้ นิรุตน์จึงบันทึกภาพหน้าจอไว้แล้วไปแจ้งความหลังเกิดเหตุราว 2-3 วัน ที่สภ.เมืองจันทบุรี โดยเพียงแค่ระบุพฤติการณ์เป็นการ “ดูหมิ่นกษัตริย์” เท่านั้นโดยไม่ได้ระบุข้อหา
ทั้งนี้นอกจากประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพฤติการณ์การกระทำแล้ว นิรุตน์ได้เบิกความแสดงความเห็นของตนด้วยว่า แม้ขณะเกิดเหตุรัชกาลที่ 9 จะเสด็จสวรรคตไปแล้ว แต่พระองค์ก็ยังคงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งที่อยู่ในใจของชาวไทย
นอกจากนั้นร.ต.อ.พิชิต สายกระสุน พนักงานสอบสวน สภ.เมืองจันทบุรี ผู้รวบรวมพยานหลักฐานและมีความเห้นควรสั่งฟ้องเป็นคดีต่ออัยการ ได้มาเบิกความด้วยในประเด็นการขั้นตอนการสอบสวนและการยื่นความเห็นสั่งฟ้อง
ร.ต.อ.พิชิตเบิกความว่าในการแจ้งข้อกล่าวหาและทำสำนวนสั่งฟ้องนั้นเพราะเห็นว่าข้อความของจำเลยนั้นเป็นการจายจ้วงและใส่ความรัชกาลที่ 9 โดยกล่าวหาว่าพระองค์นำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาทำให้ประชาชนหลงเชื่อ แม้ว่าท่านจะเสด็จสวรรคตไปแล้ว แต่พยานก็มีความเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.พิชิตยังคงยืนยันว่าการกระทำของจรัสเป็นการจาบจ้วงหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์แม้ว่าทนายความของจรัสได้ถามค้านพยานด้วยว่าตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 เนื่องจากคุ้มครองบุคคลเพียง 4 ตำแหน่งคือ พระมหากษัตริย์, พระราชินี, รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบุคคลดังกล่าวต้องยังมีชีวิตอยู่และดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่จะไม่ได้รับการคุ้มครองหากพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะด้วยการสละราชบัลลังค์หรือสวรรคต
ทนายความจึงถามร.ต.อ.พิชิต อีกว่าหากมีคนหมิ่นประมาทพระเจ้าตากสินมหาราช เขาจะดำเนินคดีหรือไม่ ประเด็นนี้ร.ต.อ.พิชิตระบุว่า “ไม่ขอตอบ”
ส่วนฝ่ายจำเลยเบิกความในศาลเกี่ยวกัเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าตอนเกิดเหตุเขามีอายุได้ 18 ปีเศษกำลังศึกอยู่ในมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีปีที่ 1 ประมาณวันที่ 6-7 เม.ย. 63เขาได้เห็นโพสต์ในกลุ่มดังกล่าวจึงไปแสดงความเห็นในเชิงตั้งคำถามเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง แต่กลับมีคนแสดงความเห็นต่อในลัษณะเป็นการด่าและเสียดสี ซึ่งรวมถึงนิรุตน์ที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีด้วย
จรัสเบิกความด้วยว่าเขารู้สึกโกรธและขาดสติจึงได้แสดงความเห็นเป็นข้อความตามที่โจทก์ฟ้องนี้ แต่ภายหลังเขาได้ปรึกษากับเพื่อนแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมจึงลบข้อความออกไป และเขาเชื่อว่าจากการโต้เถียงที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้นิรุตน์โกรธเคืองตนจนไปแจ้งความ
ศูนย์ทนายความฯ ระบุถึงคำเบิกความของจรัสที่เป็นเหตุให้เขาสู้คดีนี้ว่า “เจตนาเพียงจะตั้งคำถามเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่อย่างใด” และจรัสยังเบิกความอีกว่า “สาเหตุที่ต่อสู้ในคดีนี้เนื่องจากโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นสูงเกินไป ไม่สอดคล้องกับการกระทำของตน” แต่ที่เขาลบข้อความออกไม่ใช่เพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดี
จรัสยังเบิกความด้วยว่าเขาเห็นว่ามาตรา 112 นี้คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยงัครองราชย์อยู่เท่านั้นไม่ได้รวมถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตที่สวรรคตแล้วด้วย