เกษตรกรภาคตะวันออกสุดยอด เปิดตลาดออนไลน์ขายตรงจากสวนถึงมือผู้ซื้อ เน้นคุณภาพ บรรจุภัณฑ์แข็งแรง ดูแลสวนผลผลิตอย่างดี ทำมา 5 ปี ฉลุยขายได้หมดตลอด คาดปีต่อไปมีเกษตรกรขายตรงเพิ่มขึ้น สสก.3 จ.ระยอง ชื่นชมพร้อมสนับสนุนเต็มพิกัด
นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคตะวันออกถือว่าเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของประเทศ ในแต่ละปีมีผลไม้ให้ผลผลิตเกือบ 1,000,000 ตัน จาก 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง โดยในช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม จะมีผลผลิตออกมามาก ขณะเดียวกันก็มีลำไยเริ่มออกสู่ตลาด ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ภาคตะวันออกมีการปลูกลำไยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดสระแก้ว ผลผลิตส่งออกขายต่างประเทศเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
ในแต่ละปีการบริหารจัดการผลไม้ของภาคตะวันออกจะมีองค์ประกอบการกระจายผลผลิต ออกสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ การส่งออกต่างประเทศจะเป็น ทุเรียน มังคุด และลำไย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือจะส่งขายภายในประเทศ ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ส่งร้านริมทาง ห้างสรรพสินค้า รถเร่ และทางออนไลน์ และเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ จนหลายๆ ธุรกิจต้องหันมาพึ่งพาช่องทาง “ออนไลน์” มากขึ้น
ซึ่งปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์ม และอีคอมเมิร์ซต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มาเจอกัน ได้แบบการเว้นระยะห่างทางสังคม ( Social Distancing )
มีการดำเนินการในหลากหลายวิธี นับตั้งแต่ผ่านช่องทางที่เปิดขึ้นมาภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ เช่นเว็บไซต์ Thailandpostmart ของไปรษณีย์ไทย เว็บไซต์ ThehubThailand แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าจากผู้ประกอบการไทย ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม หรือ APi กรมการค้าต่างประเทศ ที่สนับสนุนให้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงตลาดค้าส่ง เช่น ตลาดไทย และ อตก.และ แพลตฟอร์มของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในชื่อเว็บไซต์ ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เป็นต้น
อย่างไรก็ตามจากการระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของการตลาด พบว่าในพื้นที่เขตภาคตะวันออกในปี 2563 ที่ผ่านมามีการขายผลไม้ผ่านระบบออนไลน์มากถึง 1.5 พันตัน และในปี 2564 นี้นอกจากจะขายผ่านระบบไปรษณีย์แล้ว ยังมีภาคเอกชนหลายรายที่มีระบบขายตรงและการขายออนไลน์เข้ามาร่วมโครงการกับแพลตฟอร์ม ของกรมส่งเสริมการเกษตร และ สสก.3 จ.ระยอง ทำให้มียอดการขายเพิ่มขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ การขายในระบบนี้มีข้อดีหลายประการ หนึ่งนั้นก็คือผู้ซื้อไม่ต้องเดินทางสามารถเลือกสินค้าได้ด้วยตนเอง สินค้ามีการประกันคุณภาพ และผู้ผลิตมีการดูแลระบบการปลูกการเก็บเกี่ยว และการจัดส่งเป็นอย่างดี คาดว่าในปี 2565 การขายผ่านระบบออนไลน์น่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น
“ที่น่าสนใจก็คือช่องทางธุรกิจแบบต่อเนื่องที่ได้ดำเนินการเองโดยเกษตรกรผู้ผลิต คือ การขายแบบออนไลน์จากแหล่งผลิตโดยตรง ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกมีเกษตรกรเจ้าของสวนเปิดช่องทางออนไลน์จำหน่ายผลไม้จากสวนของตนเองต่อผู้บริโภคโดยตรงจำนวนไม่น้อย และทุกสวนต่างประสบความสำเร็จที่มีแนวโน้มว่าในฤดูการผลิตปีต่อ ๆ ไป ช่องทางนี้น่าจะได้รับการขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น และทาง สสก.3 จ.ระยอง จะสนับสนุนด้านข้อมูลและจัดหาผู้รู้ด้านการขายออนไลน์มาเสริมความรู้ให้เกษตรกรต่อไป เพราะสามารถทำให้เกิดการลดต้นทุนในขั้นตอนการตลาดทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มมากขึ้น” นายปิยะ สมัครพงศ์ กล่าว
ทางด้านนางสาวสุรีย์ ธัญญคง เกษตรกรอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี หนึ่งในผู้เปิดช่องทางการขายผลไม้จากสวนของตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ เจ้าของเพจ เฟสบุ๊ค “มาจากสวน” เปิดเผยว่า ได้ปลูกผลไม้ 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง โดยทุเรียนผลผลิตส่งออกต่างประเทศทั้งหมด ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ ขายภายในประเทศ โดยทำการตลาดด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นตลาดระดับบนและระดับกลาง
“ข้อดีของการขายผ่านระบบออนไลน์คือ ขายได้ราคาดีในขณะที่ผู้ซื้อ ซื้อในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป เพราะไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และเจ้าของสวนมีการดูแลแปลงปลูกอย่างดีเพื่อให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค จะมีการคัดและเลือกเป็นอย่างดีก่อนส่งลูกค้า บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ดีและแข็งแรง เพื่อสะดวกและปลอดภัยในการขนส่งไม่ให้สินค้าเสียหายก่อนถึงมือผู้ซื้อ ที่สำคัญทำให้ผู้ซื้อได้รู้จักกับผู้ผลิตมีการติดตามสั่งซื้อผลไม้อย่างต่อเนื่องและทุกปี ปี 2564 เป็นปีที่ 5 ที่ได้จำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ผลไม้ขายได้หมดทุกปีไม่ตกค้างที่สวน ปัจจุบันเกษตรกรสวนผลไม้จังหวัดจันทบุรีหันมาขายผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้น ”นางสาวสุรีน์ ธัญญคง กล่าว