“เขาคิชฌกูฏ” เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของ จันทบุรี ที่เหล่าบรรดานักท่องเที่ยวสายมูทั้งหลาย ล้วนเก็บเขาแห่งนี้เป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ของการไปกราบไหว้ขอพรให้ตัวเองสมหวังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างรอยพระพุทธบาท และหินลูกบาตร หินขนาดใหญ่ที่ตั้งหมิ่นเหม่อยู่บนยอดเขาสูง ที่นี่ยังเปิดให้ขึ้นไปไหว้ สามารถไปได้แค่เพียง 2 เดือนต่อปีเท่านั้น ใครที่ลังเลกันอยู่ก็อย่ามัวรอช้า มาศึกษาวิธีการขึ้นไป และสิ่งที่น่าสนใจที่เรารวบรวมมาให้กันเลย
👉 จองโรงแรม ที่พักจันทบุรี >> คลิก <<
สายมูเก็บกระเป๋า ‘เขาคิชฌกูฏ 2565‘ เปิดไหม ? พาไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทและหินลูกบาตรอัศจรรย์
| ประวัติ เขาคิชฌกูฏ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองจันทบุรี
“เขาคิชฌกูฏ” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ” ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอมะขาม และอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เป็นภูเขาที่มียอดเขาอยู่ในระดับความสูง 1,000 เมตร อุดมไปด้วยป่าไม้ และธรรมชาติอันงดงาม เช่น น้ำตกกระทิง
จุดเด่นของอุทยานแห่งชาตินี้ คือ “รอยพระพุทธบาทพลวง” นับได้ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย ที่เปิดให้ผู้มีจิตศรัทธา ได้ขึ้นไปสักการะกัน โดยจะเปิดเพียงปีละ 2 เดือนเท่านั้น ทำให้ช่วง 2 เดือนนี้เป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวต่างก็ขึ้นไปกราบไหว้กันเป็นจำนวนมาก จากความเชื่อที่ว่าทุกคนควรต้องมาขึ้นเขาคิชฌกูฏ สักครั้งในชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคล
โดยชื่อ เขาคิชฌกูฎ ก็ได้มาจากเรื่องเล่าในทางพุทธศาสนา ได้เล่ากันว่า “เขาคิชฌกูฎอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธเป็นยอดเขาที่มีแนวเขาล้อมโดยรอบ และเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต” เป็นความดำริของพระครูธรรมสรคุณซึ่งเป็นกรรมการและเป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวงตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ได้เสนอใช้ชื่อ พระบาทเขาคิชฌกูฎ (พลวง)
ด้วยสภาพภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกับในเรื่องเล่า ประกอบกับรอยพระพุทธบาท และหินลูกบาตร ที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขา จึงเป็นที่เห็นตรงกันว่าที่แห่งนี้ คือ เขาคิชฌกูฎ ตามเรื่องเล่า และ เขาแห่งนี้จึงถูกยกฐานะให้เป็นอุทยานแห่งชาติในเวลาต่อมา
| ตำนานรอยพระพุทธบาทพลวง และหินลูกบาตร บนยอดเขากว่า 1,000 เมตร
เป็นที่น่าทึ่งมากที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งมหัศจรรย์สองอย่างนี้จะถูกตั้งอยู่คู่กัน ว่ากันว่าเมื่อ พ.ศ. 2397 นายติ่งและคณะได้พากันขึ้นไปบนเขาหาไม้กฤษณา ไม้กะลำพัก 5 มาขาย ต้องขึ้นไปพักอยู่บนเขา และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้าง เพื่อนคนหนึ่งได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพักก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้ และเมื่อดูรอบ ๆ ก็พบหินแผ่นหนึ่ง มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอย
ต่อมานายติ่งได้นำลูกชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ เมืองจันทบุรี ก็พบว่ามีงานเทศกาลปิดรอยพระพุทธจำลอง นายติ่งจึงซื้อทองไปปิดรอยพระพุทธบาท เมื่อปิดแล้วได้พูดออกมาว่ารอยพระพุทธบาท นี้เหมือนกับทางบ้านผมเลย พระที่ได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดพลับ (หลวงพ่อเพชร) ทราบ และเรียกนายติ่งมาสอบถาม พร้อมพาคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู
เมื่อตรวจดูตามบริเวณนั้นทั่ว ๆ ไปก็พบสิ่งแปลกประหลาดและสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง เช่น พบว่ารอยพระพุทธบาทนั้นท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่ สามารถบรรจุคนนั่งได้เป็นร้อยกว่าคน อีกด้านของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก เรียกกันว่า หินลูกพระบาท ตั้งขึ้นมา นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์เป็นอย่างมากไม่น่าจะตั้งอยู่ได้ คล้ายกับกำลังลอยอยู่เฉย ๆ มีคนกล่าวว่าเขาเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดมาได้
ปัจจุบัน ได้มีการจัดงาน ประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง บนเขาคิชฌกูฏ ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี กลายเป็นงานประจำปีที่สำคัญมากงานหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี
| วิธีการเดินทางขึ้น เขาคิชฌกูฏ กับเส้นทางสุดแอดเวนเจอร์
| การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ |
- โดยรถยนต์ส่วนตัว
ขับรถโดนใช้ถนนเส้นสุขุมวิท เมื่อถึงสี่แยกเขาไร่ยาให้แยกซ้าย เข้าทางหลวงหมายเลข 3249 ระยะทาง 24 กิโลเมตร จะถึงอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ หรือ สามารถเริ่มเดินทางจากตัว อำเภอเมืองจันทบุรี ผ่านแยกเขาไร่ยา ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3249 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร โดยใช้ทางขึ้นเขาพระบาทพลวง จนถึงวัดพระบาทพลวง ต้องจอดรถทิ้งไว้ ที่ลานจอดรถ
- รถโดยสาร
ขึ้นรถโดยสารกรุงเทพฯ – จันทบุรี สามารถขึ้นได้ทางท่ารถรังสิต หรือจตุจักร ลงรถที่ขนส่งจันทบุรี จากนั้นเหมารถ เข้าสู่ เขาคิชฌกูฎ หรือนั่งรถสองแถวสีฟ้าสายจันทบุรี – จันทเขลม ขึ้นรถได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์ท่าแฉลบ
| ขึ้นเขาคิชฌกูฏ สุดแอดเวนเจอร์ |
เมื่อมาถึงด้านล่างของอุทยานแห่งชาติแล้ว จะมีโฟร์วิล ให้บริการขึ้นเขาพระบาท ออกจากวัดพลวงไปสิ้นสุดที่บริเวณทางขึ้นยอดเขาพระบาท โดยรถที่ขึ้นยอดเขาแบ่งเป็น 2 ช่วง ขอบอกเลยว่าทางขึ้นหวาดเสียวมาก เพราะถนนขึ้นเขาที่เป็นทางชัน สลับซับซ้อน พร้อมกับต้องมาลุ้นกันว่าโค้งไหนจะมีรถสวนลงมามั้ย ใครดวงดีหน่อยก็จะได้รถที่พี่คนขับขับซิ่งสะใจ ถึงยอดเขาไวแน่นอน
***ค่าโดยสารรวมไป – กลับ ก็ตกอยู่ที่ 200 บาท/คน มีรถบริการตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จะถึงจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นไปรอยพระบาท***
| เดินขึ้นสู่ยอดเขา ระยะทางกว่า 1,200 เมตร |
หลังจากลงจากรถโฟร์วิลแล้ว ก็พักหวีผมกันนิดหน่อย จากนั้นต้องเดินต่อไปอีกด้วยระยะทาง 1.2 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่ใช้นั้นจะเป็นเส้นทางแบบธรรมชาติ สลับกับขั้นบันได และระเบียงไว้ในจุดลาดชัน ใครกลัวเป็นลม แนะนำให้พกยาดม น้ำ เอาไว้แวะพักกันข้างทางได้ สำหรับใครที่เดินขึ้นไม่ไหว หรือมีผู้สูงอายุมาด้วย เขาก็มีเสลี่ยงไว้รอรับส่งอยู่นะ
| วิธีการขอพร สักการะ รอยพระพุทธบาท และหินลูกบาตร
เมื่อมาถึงยอดเขากันแล้วนั้นเป็นความเชื่อว่า การที่มาถึงจุดนี้ได้ เกิดมาจากแรงศรัทธาอันมั่นคง จนเดินมาถึง จึงเป็นความเชื่อที่ว่า ใครที่มาถึง จะขอสิ่งใดก็สมปรารถนา และ 1 คน จะขอพรได้แค่ 1 ข้อ เท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้ว ต้องคิดคำขอพรที่ตัวเองอยากได้มากที่สุดเท่านั้นนะ
ขอพรจากรอยพระพุทธบาทเสร็จแล้ว ก็เดินต่อกันขึ้นมาอีก 1 กิโลเมตรเพื่อมาผูกผ้าแดงที่เราสามารถเขียนสิ่งที่เราปรารถนาลงไป โดยเขียนได้แค่ 1 คำขอเท่านั้น เมื่อมาถึงจุดนี้ นั้นคือจุดสิ้นสุดของเส้นทางบนเขาคิชฌกูฏที่เราสามารถมาถึงได้ เป็นอันสิ้นสิ้นสุดการขึ้นมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์
| กฎการขึ้นเขาคิชฌกูฏ ในสถานการณ์โควิด-19
- นักท่องเที่ยวได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ยี่ห้อตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
- ต้องแสดงเอกสาร ผลการตรวจเชื้อไวรัส โควิด-19 จากสถานพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง ได้แก่วิธี RT-PCR หรือ ATK ไม่เกิน 72 ชั่วโมง หลังการตรวจแสดงผลทดสอบว่า “ไม่พบเชื้อ” (Not Detected)
- กรณีผู้ที่เคยป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาหายแล้ว ต้องมีเอกสารรับรองผลการตรวจรักษาว่าหายป่วยมาแล้วไม่เกิน 90 วัน
- ต้องลงทะเบียนจองล่วงหน้าสำหรับงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง (เขาคิชฌกูฏ) ผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ในที่นี้จะเป็นการจองคิวขึ้นรถ โดยเลือกคิวรถวัดพลวงหรือคิวรถวัดกะทิงหรือเดิน, เลือกวันที่ และช่วงเวลาที่จะมานมัสการรอยพระพุทธบาท และกรอกรายละเอียดผู้จองให้สมบูรณ์
| ชี้พิกัด เขาคิชฌกูฏ เส้นทาง
- พิกัด Google Map
- เบอร์โทรศัพท์ 03-945-2074 ,02-562-0760
- เบอร์หน่วยช่วยเหลือ 081-722-1662
สำหรับการพาขึ้น เขาคิชฌกูฏ ในครั้งนี้ก็จบกันไปแล้วนะครับ เอาไว้ให้ทุกคนได้เตรียมตัวขึ้นไปกราบไหว้ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กัน เพราะทางอุทยานแห่งชาติได้ประกาศวันที่สามารถขึ้นไปได้แล้ว นั่นก็คือ ระหว่างวันที่ 2 ก.พ. – 2 เม.ย. พ.ศ.2565 นี้ ตรงกับ ขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 ภายใต้มาตรการเข้ม ป้องกันโควิด-19 ที่สำคัญใครจะไปอย่าลืมจองคิวกันล่วงหน้าผ่านแอป QueQ กันด้วยนะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน
👉 จองโรงแรม ที่พักจันทบุรี >> คลิก <<
เรื่อง : สิทธิโชติ ลังกากาศ
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล
- 10 คาเฟ่จันทบุรี 2022 เครื่องดื่มหลักร้อย ความชิลเกินล้าน เที่ยวง่ายใกล้กรุงเทพ
- 11 ที่พักจันทบุรี 2565 ซัมเมอร์นี้ เที่ยวเมืองจันท์ วันเดียวคงไม่พอ
- 13 ที่เที่ยวจันทบุรี 2565 อัปเดตล่าสุด สถานที่เที่ยวธรรมชาติ วัดงามน่าไป
- 7 ที่เที่ยว ทะเลจันทบุรี 2022 เที่ยวทะเล แต่ได้มากกว่าไปทะเล
- รวม 16 ที่เที่ยวในกรุงเทพ ธรรมชาติ เอาใจสายเขียว ปอดกลางกรุง ถ่ายรูปสวย