เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งแคว้นโกศล เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้เข้าหมอบแทบบาทพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า… มหาบพิตรมีอะไรหรือ.. จึงแสดงความรักความเคารพตถาคตถึงเพียงนี้
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า… หม่อมฉันมีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
เลื่อมใสในพระธรรม.. อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
เลื่อมใสในสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ปฏิบัติดีแล้ว
พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อชาวสาวัตถี ทรงกระทำให้มหาชนตั้งอยู่ในกุศลธรรม อยู่ในความดี.. และยังได้กราบทูลความเลื่อมใสในพระธรรม เทิดทูนในพระปัญญาอันยอดยิ่ง และความรัก ความเคารพ ที่มีต่อพระพุทธองค์อีกหลายประการ ในที่สุดกราบทูลว่า..
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ หม่อมฉันเป็นกษัตริย์ พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคเจ้า เท่ากับอายุของหม่อมฉัน
ด้วยเหตุนี้แล หม่อมฉันจึงมีความรัก ความเคารพ นบนอบเป็นอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงแสดงอาการฉันมิตรเช่นนี้…
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พระพุทธองค์ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า.. พระเจ้าปเสนทิโกศลพระองค์นี้ตรัส ธรรมเจดีย์ คือ พระวาจาเคารพธรรม เธอทั้งหลายจงเรียน ธรรมเจดีย์ นี้ไว้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเจดีย์นี้ประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์”
จากเรื่องดังกล่าว.. อาตมาซาบซึ้งกับคำที่พระพุทธองค์ตรัสว่า.. “ธรรมเจดีย์ คือ พระวาจาเคารพธรรม” เพื่อนำมาพิจารณาให้รู้จัก เข้าใจ ในความหมายและประโยชน์แห่งธรรม จากการกล่าววาจาที่สรรสร้าง “ธรรมเจดีย์” ดังกล่าว.. ที่ชาวพุทธควรศึกษา เพื่อนำไปปฏิบัติให้ถึงประโยชน์อันเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์.. ในพระพุทธศาสนา!!
ในปัจจุบัน เรามักจะเข้าใจเรื่องเจดีย์ไปในทางที่เป็นการก่อสร้างสถูป เพื่อบรรจุวัตถุ สิ่งของ คัมภีร์ใบลาน หนังสือ.. หรือพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุสงฆ์สาวกทั้งหลาย ดังที่จำแนกแจกแจงว่า พุทธเจดีย์มี ๔ ชนิด (เจดีย์ในพุทธศาสนา) ได้แก่
พระธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุเทสิกเจดีย์
โดยสรุปความหมายของ “ธรรมเจดีย์” ว่าเป็น เจดีย์ที่บรรจุพระธรรม..
เมื่อพิจารณาตามความหมายธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสเรียก ธรรมเจดีย์ ตามความหมายคือ การแสดงวาจาเคารพธรรม.. จึงออกจะเห็นความแตกต่างระหว่างความหมายของ เจติยะ หรือ เจดีย์ ในแต่ละยุคสมัยที่ปัจจุบันชาวพุทธมุ่งเน้นการก่อสร้างสถูปเป็นลักษณะของความเป็น เจดีย์ หรือ เจติยะ .. โดยผูกเข้ากับความเป็นเฉพาะที่จำแนกอยู่ในความเป็นพุทธเจดีย์ ๔ ประการ…
เจดีย์ในสมัยของเรา.. จึงต่างค่าความหมายกับเจดีย์ในความหมายของพระพุทธองค์อย่างสิ้นเชิง.. จึงไม่แปลกที่มีคำสั่งสอนมากมายของหมู่คณาจารย์ทั้งหลายที่ขาดการปฏิบัติจนรู้แจ้งแทงตลอดในธรรม.. ที่พากันสั่งสอนให้เข้าไปแสวงหา ยึดถือ ยึดมั่น.. ในความเป็นตัวตนของธรรม.. อันแตกต่างไปจากคำสั่งสอนแท้จริงของพระพุทธองค์ ที่ทรงแสดงธรรมคำสั่งสอนให้เห็นตามความเป็นจริงจนเกิดปัญญาชอบ.. ที่นำไปสู่การละวาง คลายออก ไม่ผูกพัน.. สิ้นอาลัย.. เพราะธรรมทั้งหลายเป็น อนัตตา…
จึงได้เห็นการสร้างเจดีย์ที่แตกต่างไปจากความหมายของการสร้างเจดีย์ในสมัยของพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นเชิง…
เมื่อวันที่ ๘–๙ เมษายน ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปจันทบุรี.. เพื่ออนุโมทนาการถวายที่ดินของลูกศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่ง ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวจำนวน ๓๕ ไร่เศษ มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ตั้งอยู่ที่อำเภอมะขาม มีมูลค่าไร่ละมากกว่าหนึ่งล้านบาท ติดริมถนนหลวง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๕ กิโลเมตร.. เป็นที่ดินพัฒนาแล้ว เพื่อจะให้อาตมาได้ใช้ประโยชน์ในทางการศาสนา สาธารณกุศล.. หรือสถานศึกษา
อาตมาจึงได้เชิญอธิบดีกรมราชทัณฑ์และรองอธิบดี พร้อมคณะศิษย์ศรัทธาไปร่วมกันถวายที่ดินด้วย.. เพื่อจะได้มอบให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมพัฒนาจิต.. ของอดีตผู้ต้องขังใน โครงการจิตอาสา กำลังใจ พัชรธรรม.. จะเป็นในรูปแบบของวัดป่า.. หรือสถาบันฝึกอบรมพัฒนาทางจิตใจ.. ก็ค่อยว่ากันไป ซึ่งคงจะหารือกันอีกครั้ง
จริงๆ แล้ว เรื่องวัดวาอาราม .. ในประเทศไทยในปัจจุบัน.. ก็มีมากมาย ที่สำคัญ ความหมายของวัดหรือมหาวิหารอันเป็นที่พักเจริญสมณธรรมของภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ออกจะเปลี่ยนไปจากความหมายเดิม.. และน่าจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการสร้างวัด.. ถวายให้เป็นที่พักของภิกษุสงฆ์ที่มาจากทั้ง ๔ ทิศ…
วัดวาอารามในวันนี้.. มีการประยุกต์เข้ากับสมัย ยกระดับเป็นองค์กรหรือสถาบันที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย.. เป็นนิติบุคคล มีเจ้าอาวาส ไวยาวัจกร.. เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคม.. โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเข้าไปดูแลจัดการ ในฐานะหน่วยงานรัฐบาล.. คล้ายๆ กับหน่วยงานหนึ่งทางราชการ…
การรับอนุโมทนาที่ดินแปลงนี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการกุศล.. จึงตั้งใจว่า.. น่าจะจัดตั้งเป็นสถานฝึกอบรม.. สถาบันการศึกษา.. หรือศูนย์การเรียนรู้.. เพื่อประโยชน์ของอดีตผู้ต้องขัง.. ที่สมัครใจเข้าสู่โครงการพัชรธรรม… โดยนำหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์ต่อการศึกษา เรียนรู้ ปฏิบัติ ให้เป็นไปตามพระธรรมคำสั่งสอน และสามารถให้การบรรพชา-อุปสมบทได้ในผู้ที่พัฒนาจิตวิญญาณตามหลักธรรมคำสั่งสอน จนเกิดความศรัทธา เชื่อมั่น–ปสาทะ ความเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง.. เพื่อการศึกษาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาชีวิตไปสู่ประโยชน์และความสุข.. ตามจุดมุ่งหมายในพระพุทธศาสนา ดังที่ได้กล่าวกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์และคณะ ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๕.. ที่จันทบุรีว่า…
“…ทุกคนในฐานะชาวพุทธควรเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต คือ กาย-จิต ที่ดำเนินไปตามวิถีธรรมชาติอย่างเป็นธรรมดา
ธรรมดา คือ ธรรม..
ธรรม คือ ความจริง..
ความจริงที่มีประโยชน์ คือ สัจธรรม
การมีความรู้ความเข้าใจตรงธรรมจะสามารถควบคุมจิต.. ให้จิตมีอำนาจเหนือกาย.. เพื่อดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมาย.. ภายใต้อำนาจของสติปัญญา.. ที่ควบคุมจิตในขณะนั้น
ทุกชีวิตจึงสามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปสู่ความดี .. ความประเสริฐได้
ทุกชีวิตจึงสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนไปได้ตามความประสงค์ เมื่อเข้าใจธรรม .. ในธรรมชาติของชีวิต
หัวใจธรรมในพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจธรรม .. จึงแสดงความจริงที่ควรรู้.. คือ ความทุกข์
ทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรรู้ .. ทุกข์
ทุกข์ ไม่ใช่สิ่งที่ควรเป็น .. ทุกข์
การสืบสาวหาเหตุแห่งทุกข์แท้จริง คือ ความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต
ประการสำคัญในการพัฒนาชีวิต คือ ความเพียรชอบ อย่างมีสติปัญญา
การละชั่วทำดี .. จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกขณะ จึงควรคิด พูด ทำ ให้คุ้นเคยกับความดี .. ด้วยความเพียรชอบอย่างมีสติปัญญา.. เมื่อคุ้นเคยกับการคิดดี พูดดี ทำดี.. จะทำให้เราห่างออกจากการคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว…
ที่สำคัญต้องรู้จักตั้งสัจจะ + อธิษฐาน = สัตยาธิษฐาน
แปลว่า ความตั้งใจทำความดีที่เป็นประโยชน์และตั้งความปรารถนาจากการกระทำความดีนั้น.. ไม่ใช่การวิงวอนเรียกร้องอยากได้ความดี..ความสุข โดยไม่กระทำ.. นั้น ไม่ใช่ความหมายของคำว่า “อธิษฐาน” ในพระพุทธศาสนา
ความดีในความหมายของธรรม จะนำไปสู่การปล่อยวาง ไม่ยึดติด แม้ในความดีนั้น อย่าว่าแต่ความชั่วเลย… เพราะยึดติดแม้ความดีก็ชั่วได้.. อย่าว่าแต่ยึดติดความชั่วเลย!”.
เจริญพร
[email protected]