โขลงช้างป่าเขาอ่างฤาไน นับ 100 ตัว จากแปดริ้ว ไม่กลับถิ่นเดิม แบ่งฝูงหากินในป่าอ้อยของชาวบ้าน ด้านเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังผลักดัน
วันที่ 27 ม.ค. 66 นายธนเกียรติ ไชยราษฎร์ อาสาสมัครเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าภาคประชาชนตำบลวังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี พบช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ในเขตรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา,จ.สระแก้ว,จ.ชลบุรี,จ.จันทบุรี และ จ.ระยอง ยกโขลงมากกว่า 100 ตัว ข้ามเขตมาหากินในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านวังกวาง-โคกไม้แดง ต.หวังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จึงประสานกับทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ชุดผลักดันช้างป่า และอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าในพื้นที่
พบว่าช้างป่าโขลงแรกยังคงหากินอยู่ในป่าอ้อย ทางด้านทิศใต้จำนวน 40 ตัวบวก และพบว่ามีโขลงช้างป่าแตกฝูงออกหากินอยู่ในป่าอ้อยทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งมีป่าอ้อยนับร้อยไร่อยู่ห่างกันเล็กน้อย พากันส่งเสียงร้องในไร่อ้อยและหักอ้อยกิน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดอนุรักษ์ชุดผลักดันช้างป่าเขาอ่างฤาไน เข้ามาผลักดันช้างป่าฝูงแรกที่หากินอยู่ในป่าอ้อยทั้งด้านทิศใต้ประมาณ 40 ตัวบวก ออกจากพื้นที่ข้ามไปยังพื้นที่ชั้นในของป่ารอยต่อกับ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่หากินของช้างป่าซึ่งห่างจากจุดนี้ 10 กม.
นายธนเกียรติ กล่าวว่า เมื่อตนรับแจ้งว่าพบเห็นช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนหากินอยู่ในป่าอ้อย จึงมาตรวจสอบพบฝูงช้างจำนวน 2 โขลงหากินอยู่ในป่าอ้อยนี้จริง และได้ผลักดันช้างฝูงแรกออกจากพื้นที่ไปไว้ที่เชิงเขามะกล่องเพื่อเตรียมผลักดันกลับเข้าพื้นที่หากินถิ่นเดิม จากนั้นเฝ้าสังเกตช้างป่าอีก 1โขลง ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกพบว่าฝูงช้างป่าส่งเสียงร้องลั่นในป่าอ้อย
จึงนำจิตอาสาเดินทางไปยังป่าอ้อย ระหว่างทางพบรอยช้างป่าจำนวนมากกัดกินและเหยียบย่ำป่าอ้อยของเกษตรกรเสียหายเป็นวงกว้าง จากนั้นได้ช่วยกันจุดลูกปะทัดปิงปองเพื่อผลักดันช้างป่าให้ออกจากป่าอ้อย เพื่อลดการเสียหายให้น้อยลง จากนั้นช้างป่าส่งเสียงร้องและพากันออกจากป่าอ้อยซึ่งคาดว่าโขลงช้างป่าจะไปอยู่ในเชิงเขามะก่อง ซึ่งห่างจากจุดผลักดันประมาณ 2 กม.
ช้างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา ข้ามฝั่งโยกย้ายถิ่นมาหากินไกลข้ามจังหวัดถึง ต.เขาไม้แก้ว ,ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ถี่-บ่อยครั้ง จนระยะ 2 -3 เดือนล่าสุด มักยกโขลงมาครั้งละมากกว่า 100 ตัว ชุดผลักดันของป่าไม้ –อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าผลักดัน มักหวนกลับคืนหลังเจ้าหนาที่กลับไปแล้ว
การออกนอกพื้นที่ หรือ โยกย้ายถิ่นที่อยู่ ออกมาจนเกือบกลายเป็นสัตว์ประจำถิ่นนี้ เนื่องจากรั้วกันช้างพัง ประตูเปิดทิ้งไว้ แหล่งน้ำ-อาหาร สำหรับประชากรช้างป่าที่เพิ่มทวีคูณในผืนป่าลุ่มต่ำฯ มีไม่เพียงพอเนื่องจากเป็นป่าดงดิบ มีแต่ต้นไม้ ไม่มีพืชอาหาร เมื่อได้ออกนอกผืนปิ่นที่อยู่เดิมมาเจอ ป่าอ้อย สวนกล้วย มันสำปะหลัง สวนผลไม้ นาข้าว ของเกษตรกร ซึ่งเป็นอาหารชั้นดี รสชาติเอร็ดอร่อยมาก – หาง่ายกว่าในผืนป่าธรรมชาติ
คาดว่าติดใจ จึงไม่ยอมกลับ ประกอบกับ เขตปราจีนบุรี โดยเฉพาะตำบลเขาไม้แก้วกับวังท่าช้าง เป็นแหล่งทำการปลูกอ้อยจำนวนมากเป็นหมื่น ๆไร่ และมีสวนป่ายูคาลิปตัสของเอกชนที่หมดสัญญาจากกรมป่าไม้มากกว่า 2,000 ไร่ หมดอายุการเช่าสัมปทาน จึงทำให้ช้างอยู่ต่อมีพร้อมทั้งหล่งอาหาร น้ำ ที่อยู่
ในฐานะตนเป็นเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า จ.ปราจีนบุรี ได้เสนอให้มีรั้วมนุษย์คืออาสาสมัคร -จิตอาสา ที่คอยทำการผลัดัน – ต้อนโขงช้างป่า พ้นถิ่นที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตรชาวบ้าน ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังช้างป่า ขอให้ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐด้วย อาทิ โดรน บินสำรวจช้างป่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการผลักดันช้างป่า และ เพื่อเซฟชีวิตทีมผลักดัน เบี้ยเลี้ยง – ประกันชีวิตในการช่วยเหลือปฏิบัติงานในการผลักดันช้างป่า กรณีเกิดอันตรายได้รับบาดเจ็บทุพลภาพหรือเสียชีวิต