โควิด-19 : สธ. เร่งฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 หลังโควิดระบาด “ระลอกเล็ก” – BBC News ไทย

ฉีดวัคซีน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาระบุว่าเป็นการระบาดระลอกเล็ก ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในการคาดการณ์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเมื่อ 25 พ.ย. ว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 10-20% ผู้เสียชีวิตไม่มากนัก เฉลี่ยไม่เกิน 10 ราย/วัน แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามใกล้ชิด

จากการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ รายงานว่าแต่ละแห่งยังรองรับสถานการณ์ได้แม้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง รักษาแบบผู้ป่วยนอก แพทย์ให้ยาตามที่วินิจฉัย ส่วนการรักษาในโรงพยาบาล ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญจนต้องเพิ่มมาตรการ

“ส่วนผู้สูงอายุที่มีข่าวเสียชีวิตที่บ้านช่วงนี้ คงต้องไปดูการเสียชีวิตแต่ละราย หลายรายอาการไม่เหมือนโควิด อยู่ ๆ เสียชีวิต ไปตรวจเอทีเคพบ (ผลเป็นพวก) แต่การตรวจเอทีเคเป็นการคัดกรองเบื้องต้น การวินิจฉัยยืนยันต้องตรวจรายละเอียดมากกว่านั้น กรมควบคุมโรคจะลงไปดูรายละเอียด” นพ.โอภาสกล่าว

ปลัด สธ. ระบุด้วยว่า การระบาดรอบนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ เป็นลักษณะ Small Wave (การระบาดระลอกเล็ก) การมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็ยังอยู่ในการคาดการณ์ จะเพิ่มตามวงรอบคือ ช่วง พ.ย. และ ธ.ค. โดยหลังปีใหม่จะค่อยลดลง

นพ.โอภาสยังสั่งการให้กำหนดเป้าหมายการฉีดวัคซีนระยะนี้อย่างจริงจัง โดยให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด สธ. จัดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิดตามเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์

“จะเห็นว่าคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้เข็มกระตุ้น” และ “จะติดตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อและฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และจะสรุปอีกครั้งในปลายเดือนนี้” ปลัด สธ. กล่าว

ที่มาของภาพ, กระทรวงสาธารณสุข

คำบรรยายภาพ,

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ มอบนโยบาย รพ. สังกัด สธ. ให้จัดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิดตามเหมาะสม โดยอาจกำหนดวันฉีดเพื่อให้เกิดความสะดวก หรือถ้าเข้ามาแบบวอล์กอิน ก็ให้ฉีดประชาชนที่มารับบริการด้วย ดีกว่าให้กลับบ้านไปโดยไม่ได้ฉีดวัคซีน

พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 565 ราย/วัน ตาย 9 ราย/วัน

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ซึ่งรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยเป็นรายสัปดาห์ พบว่า

  • สัปดาห์แรกของเดือน (30 กย.-5 พ.ย.) พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,759 ราย เฉลี่ย 394 ราย/วัน และผู้เสียชีวิต 40 ราย เฉลี่ย 5 ราย/วัน
  • สัปดาห์ที่สองของเดือน (6-12 พ.ย.) พบผู้ป่วยรายใหม่ 3,166 ราย เฉลี่ย 452 ราย/วัน และผู้เสียชีวิต 42 ราย เฉลี่ย 6 ราย/วัน
  • สัปดาห์ที่สามของเดือน (13-19 พ.ย.) พบผู้ป่วยรายใหม่ 3,957 ราย เฉลี่ย 565 ราย/วัน (เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 25% หากเทียบกับสัปดาห์ที่สองของเดือน) และผู้เสียชีวิต 69 คน เฉลี่ย 9 ราย/วัน

กรมควบคุมโรคได้ปรับการรายงานยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโรนาเป็นรายสัปดาห์ หลังจากโรคโควิด-19 ได้รับการปรับสถานะจาก โรคติดต่ออันตราย เป็น โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตั้งแต่ 1 ต.ค.

แนะกลุ่ม 608 ที่ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือน เข้ารับเข็มกระตุ้น

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวการเสียชีวิตของประชาชนซึ่งตรวจเอทีเคพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ในหลายกรณี แต่ทั้งหมดนี้ไม่ยืนยันว่าเสียชีวิตจากโควิดหรือไม่ เพราะอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและรอผลชันสูตร

  • อาม่าวัย 91 ปี เสียชีวิตขณะนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านพร้อมกับครอบครัว หลังกลับจากโรงพยาบาล เมื่อ 21 พ.ย. โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ตรวจเอทีเคอาม่า พบว่าขึ้น 2 ขีด
  • ชายอายุ 38 ปี ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเสียชีวิตอยู่ในคอนโดมิเนียม เมื่อ 23 พ.ย. จากข้อมูลการสอบสวนโรคเบื้องต้นโดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร พบว่า ชายคนดังกล่าวได้รับวัคซีน 3 เข็ม โดยเข็มสุดท้ายฉีดเมื่อเดือ ม.ค. 2565 นานกว่า 10 เดือนแล้ว ขณะนี้รอผลการชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตจากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ
  • พนักงานรักษาความปลอดภัย อายุ 43 ปี เสียชีวิตคาป้อมยาม เมื่อ 25 พ.ย. ผลตรวจเอทีเคพบว่าเป็นบวก
  • ชายวัย 60 ปี เสียชีวิตในบ้านพักกลางซอยสาทร 11 แขวงยานนาวา เมื่อ 25 พ.ย. ผลตรวจเอทีเคพบว่าเป็นบวก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เข้ารับวัคซีน เพราะมีการป่วยตายจากโควิด-19 มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่รายงานในแต่ละวัน และกลุ่มนี้ หากรับวัคซีนครบแล้วและเข็มล่าสุดนานเกิน 4 เดือนขึ้นไป ให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะสามารถป้องกันการป่วยหนักและลดโอกาสเสียชีวิตได้

จับตาสายพันธุ์ BA.2.75 พุ่ง “บ่งชี้ว่าอาจมีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด”

ตั้งแต่ต้นปี 2565 เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาถูกแทนที่ด้วยโอมิครอน จนกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอยู่ในไทย ทว่ามีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ หลากหลาย ได้แก่ BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 โดยที่ BA.5 ยังคงเป็นสายพันธุ์หลัก แต่ล่าสุดพบว่าสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของมัน เช่น BN.1, BL.2 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศ

จากการตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ และติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศ ระหว่างวันที่ 12-18 พ.ย. ของกรมวิทยาศาสตร์และแพทย์และเครือข่าย พบว่า สัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 42.9% (จากสัปดาห์ก่อน 23.6%) และในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศ พบว่าเป็นสายพันธุ์นี้ถึง 43.9% (จากสัปดาห์ก่อน 23.2%) โดยเฉพาะพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์), เขตสุขภาพที่ 6 (สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด), เขตสุขภาพที่ 11  (นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ชุมพร) และเขตสุขภาพที่ 12 (สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ที่ผู้ติดเชื้อเกินกว่าครึ่งเป็นสายพันธุ์ BA.2.75

ที่มาของภาพ, กรมวิทยาศาสตร์และแพทย์

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดียช่วงต้นเดือน พ.ค. และได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้น ส่วนในไทยรายงาน BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลายเดือน มิ.ย.

“สายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์ที่สำคัญคือ G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วบ่งชี้ว่าอาจมีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวเมื่อ 22 พ.ย.

แต่ถึงกระนั้น นพ.ศุภกิจยืนยันว่า การปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข การสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่แออัด การล้างมือ ยังรับมือกับการระบาดได้ทุกสายพันธุ์ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงของเชื้อได้

เช่นเดียวกับ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่กล่าวยืนยันเมื่อ 24 พ.ย. ว่า “ยังไม่มีรายงานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากเชื้อเดิม” และ “สามารถใช้ยาต้านไวรัสที่มีอยู่รักษาได้ และวัคซีนที่มีอยู่ รวมถึงแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibodies : LAAB) ก็ยังสามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ได้”

นอกจากสายพันธุ์ BA.2.75 ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังเผยให้เห็นว่า มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์อื่น ๆ ในไทย แบ่งเป็น สายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในอเมริกาและยุโรป จำนวน 9 ราย และสายพันธุ์ XBB ที่ระบาดในสิงคโปร์ จำนวน 13 ราย อย่างไรก็ตามยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น

จันทบุรี

จันทบุรี

น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร สมบูรณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมญาติกู้ชาติที่จันทบุรี

Next Post

บทความ แนะนำ

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.